ตำนานพญานาค
สร้างแม่น้ำโขง
ก่อนที่จะถึงยุค
"โยนกนาคพันธุ์สิงหนวัติ"
มีตำนานเก่าแก่ ได้กล่าวถึงดินแดนอันเป็นที่ตั้งของนครโบราณ อันเป็นปฐมบท
มูลเหตุประเทศในเขตแดนล้านนา และลุ่มแม่น้ำโขงแห่งนี้ มีความว่า.... เมื่อคราวที่น้ำท่วมโลก ในโบราณกัป
แล้วภัทรกัปก็เกิด ตั้งขึ้นใหม่ กาลต่อมา น้ำก็ได้ลดน้อยถอยลงไปเรื่อย ๆ
พื้นดินโลก ก็แห้งลงตามลำดับ ที่ดอนเขินก็ผุดขึ้นเป็นภูเขา
ที่ราบลุ่มก็ยังเป็นห้วง บ่อน้ำน้อยใหญ่เป็นแห่ง ๆ ในกาละนั้นในประเทศหนบูรพานี้
มีห้วงน้ำใหญ่อยู่ในแคว้นมิถิลา
ห้วงหนึ่งมีปริมณฑลได้ 14 โยชน์ ถัดนั้นลงมาทิศทักษิณ ระยะทางคนเดิน 1 เดือน ก็มีห้วงน้ำใหญ่
มีปริมณฑลกว้างได้ 5 โยชน์ ถัดนั้นมา ห้วงน้ำก็กว้างขึ้น ระยะคนเดินทางสองเดือนครึ่ง
มีห้วงน้ำใหญ่ กว้างกึ่งโยชน์ ยาวหนึ่งโยชน์
มณฑล
ดินแดนถิ่นนี้ ยังมีนาคราช 2 ตัว ชื่อว่า ศรีสัตนาคะ ตัวหนึ่ง มีอำนาจ มีบริวาร 7
โกฏ และ อีกตัวหนึ่ง มีนามว่า นหุตนาคะ สองนาคานี้ ล้วนแต่ เป็นใหญ่ใน นครหนองกระแส นาคราชทั้งสองนี้ เป็นสหายกัน ได้พากันขุดควัก ช่องน้ำเป็นลำคลองมา
ตั้งแต่ ปัญจมหานทีที่ 4 คือว่าแม่น้ำมหิ ให้น้ำไหลถั่งมาเป็นกระแสลงมา ถึงห้วงน้ำใหญ่แห่งหนึ่ง
จึงมีนามว่า หนองกระแสหลวง (เมืองหนองแส ฮุนหนำ) ห้วงน้ำที่สองว่า
หนองกระแสน้อย น้ำในหนองกระแสหลวง นั้นแตกเป็นแม่น้ำใหญ่ไหลลงอาคเนย์
ไปต่อนน้ำมหาสมุทรหลวง น้ำนั้นจึงชื่อว่า น้ำแม่แตกหลวง
ส่วนน้ำในกระแสน้อย
ก็ไหลไปต่อน้ำแม่แตกน้อย
ภายหลังเมื่อตั้งเป็นนิคมขึ้น จึงได้ชื่อว่าจุฬนีนคร ยังห้วงน้ำที่สาม
อยู่หนอาคเนย์เฉียงทักษิณ มีห้วยน้ำใหญ่ไหลมาแต่ทิศประจิม
ปลายห้วยนั้นมีแผ่นศิลาดาดสัญฐาน ดังสาดกะลา เหตุนั้นจึงเรียกว่าแม่น้ำสาด
น้ำนั้นไหลมาหลายทาง ไหลมาลงที่หนองใหญ่ในทิศหรดี
เหตุที่แม่น้ำใหญ่
ไหลมารวมกัน กับห้วยน้อย นั้นจึงชื่อว่า "กุกนัทธี" หมาย คือแม่น้ำกกอันเป็นที่ตั้งเมืองเชียงราย ถัดไปด้านเหนือน้ำกก มีแม่น้ำ สายหนึ่งไหลออกจากถ้ำ
มีรูปสิงห์ทองคำตัวหนึ่ง จึงได้ชื่อว่า "ห้วยแม่คำ"
เหนือห้วยแม่คำขึ้นไป ก็มีน้ำห้วยหนึ่งไหลออกจากผา มีรูปเหมือนพลวงช้าง
จึงมีชื่อว่า "น้ำห้วยพลวง" และถัดนั้นมีสระหนองน้อยอยู่หนอิสาน
มีทางเงือก หรือจระเข้ ขุดควักมาแต่ภูเขา มาทะลุหนองนั้น ชื่อว่า "ห้วยรี
"
ถัดนั้นไป
มีหนองน้อยอีก หนองนึ่ง มีทางเงือกขุดควักมา แต่ผาแตกกึ่งมาบรรจบหนองน้อยจึงชื่อว่า
"ห้วยผากึ่ง" จากหนองนั้นไปทิศประจิม 50 วา มีถ้ำอันหนึ่งชื่อว่า
"ถ้ำกุมภ์" เหตุว่ามีหม้อทิพย์อยู่ 4 หม้อ อันเทพดาเนรมิตไว้ ภายในถ้ำนั้น
ไว้เป็นน้ำฉันสำหรับพระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์ อันจะมาอุบัติในภัทรกัปนี้
เมื่อครั้ง
พระพุทธเจ้า กกุสันโธ เสด็จมาฉันน้ำในถ้ำนี้ ได้พยากรณ์ว่า กาลเมื่อภัทรกัปตั้งได้
7 อสงไขย เศษแสนปี
จักมีพระยาศรีสัตนานาคราช อยู่หนองกระแสหลวงมาขุดควักหนองนี้เป็นแม่น้ำใหญ่
ไหลล่องไปถึงมหาสมุทร ภายหน้าจักมีพระยาต๋นหนึ่ง มีบุญญาธิการยิ่งนัก
หากได้มาตั้งมหานครที่ตำบลหนองนี้
เมื่อพระพุทธเจ้า
กกุสันโธ พยากรณ์ไว้ฉะนี้ ล่วงกาละมา พระยานาคราชทั้งสองคือ ศรีสัตนานาคราช
และนหุตนาคราช
ได้เกิดทะเลาะวิวาทกันด้วยเหตุ วันหนึ่งพระยาศรีสัตนาคราชได้
กุญชร (ช้าง) มาเป็นอาหาร ก็ได้แบ่งเนื้อกุญชรให้นหุตนาคราช สองเพื่อนรัก
ก็ยังรักกันดี
ต่อมา
ฝ่าย นหุตนาคราช ก็ได้เม่น มาเป็นอาหาร ก็จึงได้แบ่งเนื้อเม่นและหนังเม่นแก่ศรีสัตนาคราช
เช่นกัน ฝ่ายพระยาศรีสัตนาคราชได้เห็นชิ้นเนื้อ
ของเม่น แล้วว่ามีน้อย มีแต่หนัง และขนก็แข็ง เป็นขวากหนาม ไม่สมควรบริโภค
จึงโกรธแค้นสหาย
ด้วยความไม่พอใจนี้
จึงได้ยกพลบริวารกระทำยุทธนาการกัน ปรากฏว่า นหุตนาคราชเป็นฝ่ายชนะ ฝ่าย พระยาศรีสัตนาคราช
จึงได้พาบริวาร หลบหนีจากหนองกระแสใหญ่ ขุดควัก แผ่นดิน มาถึงหนองสามโยชน์
ที่นี้เป็นที่คับแคบ จึงขุดดิน ต่อไปอีก 7 วัน จึงลุถึงแม่น้ำใหญ่ ไหลผ่านมีน้ำมากไหลอู้มา
จึงได้ชื่อว่า "น้ำแม่อู"
ในพื้นที่
ที่ใกล้กับ แม่น้ำอู ทางตะวันออก มีหนองน้ำลึกสีเขียวงาม นาคทั้งหลายพากันขุดควักน้ำแม่อูมาบรรจบหนองน้ำนั้น
เป็นที่หยุดพักคราวหนึ่ง จึงได้ชื่อว่า น้ำข้างอ่างหลง ลำดับน้ำพระยาศรีสัตนาคราช
จึงพาบริวารขุดควัก เป็นทางอีก 14 ราตรีก็ บรรลุแว่นแคว้นโพธิสารหลวง (เมืองเขมร)
คือ "อินทปัตถ์มหานคร" น้ำในหนองสามโยชน์และหนองทั้งหลายก็ไหลลุมาตามรอยพระยานาค
ที่ขุดควักไปนั้นจึงกลาย เป็นมหานทีใหญ่ ไหลลงมหาสมุทร จึงได้ชื่อว่า
"แม่น้ำขละนที" คือแม่น้ำโขง
ต่อมา
ก็ได้เกิดมีชุมชน ตั้งขึ้นริมฝั่งแม่น้ำขละนที หรือ แม่น้ำโขง มีชาติขอมหลวง มาตั้งแว่นแคว้นโพธิสารหลวง
ครั้งนั้นมีนายพราน ชื่อ วเนจร ได้เดินทาง
มาจากเมืองโพธิสารหลวง ได้พาบริวารของตนขึ้นมาตาม ลำน้ำแม่ขละนที มาตั้งพักอยู่ที่ป่า ตำบลหนองสามโยชน์ ก็ไปถึงถ้ำกุมภ์คูหา
อันเป็นที่ตั้งหม้อน้ำทิพย์ พรานวเนจร ได้เห็นหม้อน้ำทั้ง 4
จึงให้บริวารยกไปไว้ที่พักของตน
ต่อมา
รุ่งเช้าหม้อน้ำทั้ง 4 ก็หายไป พรานจึงเที่ยวตามหา จนมาถึงถ้ำกุมภ์
ก็พบหม้อน้ำทั้ง 4 มาตั้งอยู่ที่เดิม พรานจึงคิดว่า ของสิ่งนี้ คงเป็นของเทพดา ที่ท่านรักษาไว้ จึงไม่อาจนำออกไปได้
ต่อมา ในช่วงปลายศาสนา ของพระพุทธเจ้า โกนาคมนั้น
ก็ได้เกิดโรคระบาด ราชบุตรแห่งเมืองปาตลีบุตร จึงหนีโรคระบาด จึงพาครอบครัว ภริยา
และบริวารอพยพไปตั้งอยู่ในป่า เขตเมืองโพธิสารหลวง ต่อมาภริยา ได้คลอดบุตรชาย
ราชบุตรชื่อตั้งชื่อกุมารนั้นว่า กุรุวงษากุมาร
เมื่อกุรุวงษา
กุมาร อายุได้ 6 ขวบ บิดาก็ถึงมรณกรรม ยังแต่นางผู้เป็นมารดาเลี้ยงดูกุมารนั้น
พออายุได้ 7 ขวบ มารดาก็ถึงกาลกิริยา ตายตามสามีไปอีก กุรุวงษา กุมาร อายุได้ 13
ปี มีรูปลักษณะงามบริบูรณ์ มีเสียงไพเราะมีกำลังมาก ได้เป็นหัวหน้าชาวป่าเขา
มีบริวารเป็นอันมาก จึงให้ขนหินศิลา มาก่อล้อมสถานที่อยู่แห่งตน
ตั้งเป็นปราการเมือง แล้วตั้งมั่นเป็นเอกเทศอยู่ในตำบลนั้น ไม่อยู่ในการปกครองของใคร
กิตติศักดิ์อันนี้
ทราบไปถึง เจ้าเมือง พระยาโพธิสารหลวง จึงให้อำมาตย์คุมพลนิกายไปแวดล้อม
เพื่อจับตัวกุมารนั้น ฝ่ายกุมารและบริวารก็ ออกต่อสู้สัปยุทธนาการ ฝ่ายทหารของเมืองโพธิสารก็ปราชัยกลับไป
ในที่สุดพระยาโพธิสาร
ก็ต้องยกทัพมาปราบด้วยตัวเอง ก็เสียท่า พลาดแก่กุมาร ถูกจับตัวได้ จนพระยาโพธิสาร ต้องยอมยกราชสมบัติ
ให้แก่ กุรุวงษากุมาร
ครั้นเจ้ากุรุวงษา
ได้เป็นใหญ่ ในแคว้นนี้แล้ว จึงได้เรียกชื่อ แว่นแคว้นนี้ว่า "กุรุรัฐ"
และเรียกประชาชนแคว้นนี้ว่า "ชาวกล๋อม"
ตามมูลเหตุที่เอาศิลามาก่อล้อมเป็นปราการ ต่อมา ยังมีนางกุมารีผู้หนึ่ง
ซึ่งเป็นธิดากษัตริย์ วงศ์สมันตราช ได้อพยพหนีโรคร้ายไปอยู่ในป่า
และพาบริวารปลูกข้าวอยู่ที่ขอบหนองแห่งหนึ่ง มีหมู่ผีเสื้อทั้งหลาย ได้กินข้าวที่นางปลูกนั้น
หมู่ผีเสื้อ จึงนิยมรักใคร่ในตัวนาง ก็พากันมาเป็นบริวารของนาง แล้ว ก็พากัน ขนศิลามาก่อล้อมที่อยู่แห่งนาง
พิทักษ์นางไว้ด้วยดี สถานที่ก่อปราการนั้น ต่อมาได้ ชื่อว่า "อินทปฐาน"
ต่อมา
เจ้ากุรุวงษากุมาร ก็ได้นางนั้นเป็นมเหสี จึงรวมแว่นแคว้นทั้งสองนี้
เข้าด้วยกันให้ชื่อว่า "กุรุรัฐและอินทปัตถ์มหานคร" นครแห่งนี้ เจริญรุ่งเรืองมาตามลำดับ
ด้วยคุณงามความดี
และบุญญาธิการที่ผู้นำสร้างมาดี เมืองโพธิสารหลวง ก็มีกษัตริย์สืบสันติวงศ์
ติดต่อกันมาก ถึง 44,800 องค์ จนมาถึง สมัยพระยาศรีวงษาได้ครอง เมืองโพธิสารหลวง
พระองค์มีโอรสสององค์คือ "องค์อินทรวงษา" และองค์น้องชื่อ"ไอยะกุมาร"
ครั้นพระยาศรีวงษาทิวงคตแล้ว อินทรวงษาก็ได้ขึ้นครองเมือง
สืบจากพระบิดาและตั้งให้ไอยกุมารเป็นอุปราช
ต่อมาพระยาอินทรวงษามีโอรสชื่อ
อินทรปฐม ได้อภิเษกกับธิดาของไอยอุปราช ที่ชื่อว่า
"นางอุรสา" พระนางมีโอรส 6 องค์ มีนามว่า "องค์เทวินทร์บวร"
แต่อีก 5 นั้นในตำนานเดิมไม่ปรากฏชื่อ เมื่อพระยาอินทร์วงษาทิวงคตล่วงไป
พระอินทรปฐม ก็ได้ครองราชย์ สืบต่อมา
ต่อมาไอยอุปราชได้ลาจาก
ตำแหน่งอุปราช และพาบริวารลงเรือขึ้นไปแม่น้ำขละนที หรือแม่น้ำโขงจนไปถึงเขตดอนทรายกลาง
แม่น้ำขละนที เยื้องปากน้ำแม่กก จึงตั้งเป็นนิคมเมืองอยู่ในที่นั้นมีเรือนอยู่
3000 เมืองนี้ ตั้งอยู่ทิศอาคเนย์ของอุทกะคูหา หรือถ้ำกุมภ์ อันเป็นที่ตั้ง ของหม้อน้ำทิพย์
ไว้สำหรับพระพุทธเจ้า 5 พระองค์
ตัดฉาก
กลับมาถึงเมืองโพธิสารหลวง กุรุรัฐอินทปัตถ์ นคร ภายหลังเมือไอยะอุราชลาออกไปแล้ว
พระยาอินทร์ปฐมได้แต่งตั้งพราหมณ์ปุโรหิตผู้หนึ่งชื่อว่า พาหิรพราหม์
ไว้เป็นที่ราชครูและอัครเสนาบดี พราหมณ์ผู้นี้ เป็นเชื้อชาติขอมเก่า
แห่งเมืองโพธิสารหลวง
ครั้นต่อมาพระนางอุรสาราชเทวี
ทรงครรภ์เป็นครั้งที่ 7 ได้คลอดราชบุตร ออกมาทางปากจึงตั้งชื่อว่า
"องค์สุวรรณมุขทวาร" การคลอดลูกทางปากนี้ สัณนิฐานว่า นางน่าจะมีเชื้อเผ่าพันธุ์พญานาค
ครั้นกุมารนั้น
เจริญวัย อายุได้ 7 เดือน ก็มีอภินิหารแรงกล้า จนเป็นที่หวั่นไหวแก่พระราชบิดา ครานั้น
พาหิรพราหมณ์ปุโรหิต จึงเข้าไปทูลยุยงให้องค์อินทรปฐมว่า พระโอรสนี้เป็นอุบาทว์
อาจทำลายพระนคร และประชาราษฎรให้พินาศอันตราย จะละไว้มิได้ให้ นำไปลอยแพเสีย
ส่วนพระยาอินทรปฐมได้ฟัง
ก็ตกใจ แต่ก็ทรงเสน่หาอาลัยในพระโอรส แต่ก็จำใจอนุญาต สุดแล้วแต่พราหมณ์ราชครู
จะจัดการ พราหมณ์พาหิร จึงเชิญเสด็จพระนางอุรสา และสุวรรณมุขทวารกุมาร
ลงในเรือขนาน ปล่อยให้ลอยไปตามแม่น้ำขละนที
ฝ่ายไอยะมหาอุปราช เมื่อลาออกจากเมือง มาก็มาตั้งบ้านเรือน
อยู่ดอนทรายฝ่ายเหนือ เมื่อทราบว่าธิดาประสูติราชกุมาร จึงลงมายังเมืองโพธิสารหลวง
ครั้นทราบเหตุการณ์ที่พระนางและราชกุมารถูกลอยแพก็เสียใจ ก็รีบกลับเมืองแล้ว
จึงทำพิธีบวงสรวงนาคา และปักเสาประทีปโคมทองทุกท่าน้ำ
ครั้งนั้น
พระยานาค ตนหนึ่ง มีนามว่า พระยาศรีสัตตนาคราช ทราบเรื่องว่า
มีผู้ขอความช่วยเหลือ ในเรื่องนี้ พระยาศรีสัตตนาคราช ผู้ปราณี
จึงสั่งการไปยังเสนานาคทั้งปวง พระองค์ จึงพาบริวาร ของตน ขนหินไปทำฝายกั้นน้ำ ปิดทางต้นน้ำแม่โขงไว้ ไม่ให้เรือ นั้นไหลลงสู่สมุทรได้
จนมาถึงทุกวันนี้ ชาวบ้าน จึงเรียก เขื่อนกั้นน้ำนี้ ว่าฝายนาค หรือ ลี่ผี นั้นเอง
เมื่อพระยาศรีสัตนานาคราช
ได้ถมหิน ปิดกั้น สายน้ำ ในแม่น้ำขละนที หรือแม่น้ำโขงแล้ว ต่อมา สายน้ำ ในแม่น้ำขละนที
แม่น้ำโขงบริเวณนี้ กระแสน้ำจึงเปลี่ยนทิศ น้ำจึงไหลขึ้นท่วมท้นขึ้นเต็มฝั่ง ทั้งไหลวน ทั้งครานั้น พระยาศรีสัตนานาคราช จึงบันดาล ให้เกิดมหาวาตะพายุพัดขึ้นมา จึงทำให้ เรือของพระราชเทวี และพระกุมาร ลอยทวนกระแส
ขึ้นไป ด้านบนตามกระแส แม่น้ำขละนที (แม่น้ำโขง) จนเรือ นั้นลอยไปถึงท่าโคมฅำ
ในวันจันทร์ เพ็ญเดือน 9
และในเวลาเช้า
ไอยะมหาอุปราช จึงได้พบ พระธิดาและพระนัดดา ยังความชื่นชมยินดียิ่งนัก พระองค์ จึงจัดสมโภช ทำขวัญ 7 ราตรี ต่อมาก็ให้สร้างเป็นเมือง บริเวณนั้น ขนานนามว่า
"เมืองสุวรรณโคมฅำ" ฝ่ายเมืองโพธิสารหลวง
เมื่อเนรเทศ ลอยแพพระกุมาร และพระเทวีไปแล้ว ก็เกิดอาเพศโรคระบาด ฝนฟ้าไม่ตก ตามฤดูกาล ข้าวยากหมากแพง ประชาชนอดยากมาก จึงพากันหนี ออกจากเมืองไปอยู่
กับเมืองสุวรรณโคมฅำ เป็นจำนวนอันมาก
ต่อมา
พระอินทร์จอมเทพ ต้องการให้พระราชบิดา และราชกุมารได้พบกัน จึงบันดาลปล่อยม้าอัศดร
ไปยังเมืองโพธิสารหลวง และไม่มีใคร สามารถจับม้าตัวนั้นได้ นอกจากราชกุมาร ชื่อเทวินทรบวร
เมื่อองค์เทวินทร์บวร ประทับบนหลังม้าอัสดรได้ แล้ว ม้าตัวนั้นก็วิ่ง พาไปที่เมืองสุวรรณโคมฅำทันที
องค์เทวินทร์บวร
กุมาร ได้พบกับพระเจ้าตา พระชนนีและพระอนุชา ก็มีความชื่นชมโสมนัสยิ่งนัก
จึงขึ้นม้ากลับมาเมืองโพธิสารหลวง กราบทูลให้พระบิดารู้เรื่อง
เมื่อพระบิดาได้รู้เหตุการณ์แล้วก็เสด็จไปเชิญให้พระเทวีและพระโอรสกลับเมือง
แต่พระนางอุรสาไม่ยอมกลับ
พระยาอินทรปฐม และไอยะอุปราชจึงอภิเษก "เจ้าสุวรรณมุกขทวารราชกุมาร"
ขึ้นเป็นพญาครองเมืองสุวรรณโคมฅำ เมื่อสิ้นรัชกาลองค์อินทรปฐม องค์เทวินทร์บวรราชกุมารจึงได้ครองราชสมบัติในเมืองโพธิสารหลวง
ทั้งยังได้
เนรเทศ ผู้เป็นต้นเหตุความวุ่นวาย คือ พาหิรพราหมณ์ ให้ออกจากเมือง ส่วนพาหิรพราหมณ์
จึงพาบริวารไปขออาศัยในแว่นแคว้น เจ้าสุวรรณมุขทวาร
เจ้าจึงให้พาหิรพราหมณ์ไปตั้งอยู่ที่เชิงเขา ปลายแม่น้ำกกเบื้องตะวันตก
ไกลจากเมืองสุวรรณโคมฅำ ระยะ 3 คืน เนื่องจากที่อยู่นั้นเป็นถ้ำใหญ่
ต่อมาจึงตั้งชื่อว่าเมือง "ว่า อุมงคเสลานครขอมเขต" (คือเมืองตุม)
กาลต่อมา
กษัตริย์ในเมืองสุวรณโคมฅำ ได้สืบต่อ จากพญาสุวรรณมุกขทวาร นั้นมีมากถึง 84550 องค์ นานมาก จนราชวงศ์นี้สิ้นสุดลง จนหมดสิ้นไม่มีผู้ใดสืบต่อ
ยังเหลือแต่เชื้อสาย
ฝ่ายพาหิรพราหมณ์ ที่เมืองอุมงคเสลานคร
ก็กลับมายึดเมือง และได้มาเป็นใหญ่ในเมืองสุวรรณโคมฅำ และได้ข่มเหงไพร่พลเมือง ให้ได้รับความเดือดร้อนเป็นอันมาก
กาลต่อมา
ยังมีชายยากจน คนหนึ่ง ทำไร่อยู่ริมแม่น้ำขละนที หรือแม่น้ำโขง
ระหว่างเมืองสุวรรณโคมฅำ และเมืองโพธิสารหลวง แม่น้ำนั้นมีดอนทรายอ่อนละเอียด และวังผา
เป็นสถานที่ ที่ซึ่งพระราชธิดาทั้ง 3 ของพระยาศรีสัตนาคะราช มาประพาสเล่นน้ำอยู่เป็นประจำ
วันหนึ่ง
ธิดาทั้ง 3 นาง ของ พระยาศรีสัตนาคะราช มาเล่นน้ำ แล้วรู้สึกหิว จึงพากันไปขโมยกินข้าวในไร่ ของชายเข็ญใจผู้นั้น เมื่อ ธิดานั้น กลับไปบาดาลแล้วก็แจ้งแก่พระยานาคผู้เป็นบิดาให้ทราบ
เมื่อพญาศรีสัตตนาค ทราบว่า ธิดาของตนไปขโมยกินข้าว ในไร่ของชายเข็ญใจ
โดยเจ้าของมิได้อนุญาต
จึงกล่าวว่า
ธิดาของตนนั้นเป็นบาป จึงปรับโทษเป็นอทินนาทาน
สาปให้นางนาคธิดาทั้ง 3 ไปใช้เวร แก่มานพนั้น ธิดานาคทั้งสามจึงแปลงเป็นคน มาเป็นคนรับใช้
ไปรับใช้มาณพ นั้น
ฝ่าย
นางธิดานาคทั้งสาม ได้แนะนำให้มาณพนั้น ไปค้าขายที่เมืองสุวรรณโคมฅำ
นางก็เนรมิตเรือและสินค้าให้มาณพขึ้น ให้ไปค้าขายที่เมืองสุวรรณโคมคำ แต่ก็ถูกพวกขอมเมืองสุวรรณโคมคำทำอุบายใส่ความเอาโทษ
ปรับริบเอาสินค้าของมาณพนั้น ไปหลายครั้ง
ภายหลังนางนาคธิดาจึงไปกับเรือสินค้านั้นด้วย
ไปพักอยู่ที่ท่านาค พระยาขอมในเมืองนั้นก็แต่งอุบายมาล่อลวงพนันขันต่อ
เพื่อจะริบเอาสินค้าอีกครั้ง นางนาคธิดาก็บันดาลให้พระยาขอมแพ้พนัน มาณพริบเอาสมบัติพระยาขอมบ้าง
เมื่อพระยาขอม แพ้พนัน
แต่พระยาขอม
ไม่ยอมให้ริบสมบัติ ตามสัญญาและยังหาเหตุไล่มาณพ ออกจากเมืองด้วย นางนาคธิดาทั้ง 3
ก็โกรธพระยาขอม ว่าหาสัจจะมิได้ นางจึงกลับไปทูลความ
แก่พระยาศรีสัตนาคราช ผู้เป็นบิดา
ดังนั้น
พญานาค จึงพาบริวารไปขุดฝั่งน้ำ"ขลนที " เพื่อ พังเมืองสุวรรณโคมคำ
ให้ล่มทลายลงในแม่น้ำขละนที ในเวลาราตรี จนพระยาขอม เจ้าเมืองสุวรณโคมตำ และชาวเมืองจมน้ำตายเป็นจำนวนมาก
ที่เหลือก็กระจัดกระจายไป และมีจำนวนหนึ่ง ที่หนีไปสมทบอยู่กับชายเข็ญใจพ่อค้าผู้นั้น
จนกลายเป็นเมืองใหญ่ขึ้นมา เมืองสุวรรณโคมฅำก็ร้างกลาย จนเป็นท่าหลวงไป ชื่อว่า "ท่าโคมฅำ"
แต่บัดนั้นมา
ครั้นพวกขอม
เมืองสุวรรณโคมคำ กระจัดกระจายไปแล้ว ก็มีแต่ พวก มิลักขะชน อยู่ตามซอกห้วยราวเขา
มีปู่เจ้ากุบคำ (หมวกทอง) เป็นหัวหน้าชาวลั๊วะ ตั้งบ้านอยู่ บนดอยหลวงเขาตายะทิศ
คือดอยสามเส้า
ตัดฉากย้อนไป
กาลก่อน เมื่อพระกัสสปะพุทธเจ้า อุบัติขึ้นในโลก พระองค์ เคยเสด็จมาฉันน้ำทิพย์ ณ
ถ้ำกุมภ์ ในแว่นแคว้นสุวรรณโคมคำ แห่งนี้
ครั้งนั้น พระองค์ องค์พุทธธะกัสสปะ ก็ได้พยากรณ์ ว่า ภายภาคหน้า จะมีขัติยะวงศา
พระเจ้าสมมัติราช มาแต่ราชคฤห์ นครหลวงไทยเทศ ทิศพายัพ
จะมาตั้งแว่นแคว้น
เมืองเจริญขึ้น เป็นมหาประเทศราชธานี จักได้บำรุงศาสนาพระโคตมะพุทธเจ้า ในอนาคตกาล
ก็มีดังนี้แล
เมื่อเราทราบว่า องค์พุทธะกัสสปะ ได้เคยกล่าวไว้เช่นนี้ ว่าดินแดนถิ่น
แม่น้ำขละนที หรือแม่น้ำโขง จะเป็นถิ่นเจริญ รุ่งเรื่อง เป็นดินแดนแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง
มีผู้นำแผ่นดิน ที่ตั้งอยู่ในทศพิศราชธรรม ตั้งมั่นพุทธศาสนิกชน มีผู้ศรัทธา
พุทธศาสนา จะมาตั้งแว่นแคว้น เมืองเจริญขึ้น เป็นมหาประเทศราชธานี
จักได้บำรุงศาสนาพระโคตมะ พุทธเจ้า ต่อไป
ในอนาคต
เราจึงเชื่อได้ว่า แม้โลกจะพบกับความวิบัติ มนุษย์จะผจญ กับเรื่องเลวร้าย เพียงใด
แต่ดินแดนลุ่มน้ำโขง แห่งนี้ ล้วนอุดมไปด้วยสิ่งอันเป็นมงคล อัดแน่น ด้วยคุณงามความดีอันอุดม
องค์พุทธะ ได้ปักธงชัยไว้แล้ว แม้ปัจจุบันดินแดนแห่งนี้ ยังไม่อาจทราบได้
ว่าเป็นจริง แต่คำกล่าวขององค์พุทธะ
ทุกพระองค์ ท่าน ล้วนแต่เป็นผู้แจ้งโลก ทั่วจักรวาล ย่อมไม่พลาด และเป็นจริงเสมอ
แล้วเราและท่าน จะเลือกทำสิ่งใด ในปัจจุบัน และในอนาคต ก็จงเป็นสิทธิ์ของท่านเถิด สบายดี
------------------------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น