วันเสาร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2564

 

 ย่างก้าวสู่กลียุค

            เมื่อปี 2563  ที่ผ่านมา  หวังว่าเราคงยังจำกันได้  ว่ามีข่าวสะเทือนขวัญ เกิดขึ้น ที่ เมืองโคราช เมื่อวันมาฆบูชา (8 ก.พ. 63) สื่อมวลชน เรียกโศกนาฎกรรม ครั้งนั้น  ว่า “จ่าคลั่ง” จ่าคนนั้น ได้ใช้อาวุธร้ายแรง กราดยิงผู้คน ชนิดที่เรียกว่าขาดสติ อย่างบ้าคลั่ง ครั้งนั้น จึงมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บมากมาย และในเวลาต่อมา ผู้ที่เกี่ยวข้อง ก็ได้จัด มีพิธีทำบุญครั้งใหญ่  โดย นิมนต์พระสงฆ์มารับบิณฑบาตเป็นกรณีพิเศษ



 

            ด้วยพฤติกรรม ที่ขาดสติ แบบที่มนุษย์ทั่วไปกระทำไม่ได้นี้  ก็เกิดจากจิตใจที่ไม่ปกติ ในเรื่องราวที่มากระทบ แต่ก็อดนึกถึง คุณสมบัติ ของความเป็นมนุษย์ ว่ามีอะไรบ้าง ทั้งมองถึงความสำคัญของ “ศาสนา”   ดังนั้น  ถ้ามนุษย์ไม่มีศาสนา ก็จะมีพฤติกรรม ไม่ต่างอะไรกับสัตว์ ป่าที่ดุร้าย  และ ถ้าโลกนี้ไม่มีศาสนาในหมู่มนุษย์ แล้ว มนุษย์จะอยู่ร่วมกันอย่างไร

 

            และปัจจุบัน  ก็ยังมีข่าวไปทั่วโลกว่า มีจำนวนคน ไม่น้อยที่ ประกาศตนว่าเขา ไม่มีศาสนา และนับวัน ผู้ที่ “ไม่นับถือศาสนา” จะเพิ่มมากขึ้น เรื่อย ๆ

            ส่วนคนที่ประกาศตน ว่าไม่นับถือศาสนา ใด ๆ  นั้น คงลืมนึกไป หรือไม่ว่าการมีศาสนาในโลกมนุษย์นี้ ไม่ได้หมายเฉพาะตัวเองเท่านั้นที่จะต้องมีศาสนา คนอื่นรอบ ๆ ตัวเองก็จะต้องมีศาสนาหรือนับถือศาสนาด้วย ตัวเองจึงจะอยู่ได้อย่างสงบ ท่ามกลางความวุ่นวาย ของโลก ตามความเหมาะสม เช่นกัน

            อีกอย่างหนึ่ง ในความหมายของ คำว่า การนับถือศาสนา  หรือไม่นับถือศาสนา ไม่ได้หมาย เพียงเฉพาะ การนับถือศาสนาใด ศาสนาหนึ่งเท่านั้น แต่หมายถึงการมี “ศีลธรรม” มีมารยาทที่ดีที่มนุษย์ ที่ควรจะปฏิบัติต่อกัน  และสิ่งที่หลายศาสนา ได้กำหนดขึ้นด้วย เช่น การไม่ฆ่าสัตว์ หรือไม่ฆ่ามนุษย์ด้วยกัน การไม่ละเมิดสิทธิในด้านต่าง ๆ  ของ มนุษย์ ด้วยกัน เป็นต้น  ดังเราจะเห็นได้ว่า ลำพังมนุษย์ จะมี “กฎหมาย” มีธรรมเนียม  จารีตประเพณี” เข้ามาควบคุม หรือแม้แต่ “วัฒนธรรม”เท่านั้น ก็ยังไม่ เพียงพอ

            ดังนั้น คำว่า “กลียุค” หรือ “ยุคมิคสัญญี” หมายถึง ยุค ของมนุษย์ที่ไม่มีศาสนา ใดๆ  จะมาคุ้มครองโลก มาคุ้มครอง มนุษย์ ไม่ให้เกิดโกลาหล ไล่ล่าเอาชีวิตกัน ชีวิตช่างหน้ากลัว ต้องหนีกันเอง เพราะอีกฝ่ายหนึ่งก็กลัวจะถูกอีกฝ่ายทำร้าย ไล่ล่า จึงต้อง ช่วงชิงทำร้ายกันเองก่อน  เมื่อมนุษย์ ไม่มีสำนึกของการมีศาสนา กันอีกครั้ง  มนุษย์จะอยู่ในสังคม ร่วมกันได้ อย่างไร  ถ้าเป็นอย่างนี้ ก็เรียกว่า กลียุค

            ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า มนุษย์หรือโลกนี้จำเป็น อย่างยิ่งต้องมีศาสนา  ผู้ที่เจริญ ผู้ที่ฉลาด ย่อมไม่มีใครจะปฏิเสธการมีศาสนา หรือการนับถือศาสนา ไปได้

            ดังนั้น การที่บอกว่าตนไม่นับถือศาสนาใด ๆ นั้นคงน่ากลัวมาก  ก็จะไม่เชื่อว่าคนที่แสดงตน ว่าตน “ไม่มีศาสนา” จะมีอยู่จริงในโลกใบนี้ และไม่เชื่อว่า จะมีคนที่อยู่ในโลกที่ไร้ศาสนาได้ เพราะมันหมายถึงว่า เขาจะอยู่ท่ามกลางคนไร้ศาสนาได้   ซึ่งไม่มีมนุษยธรรมดา คนใดๆ มี คติประจำใจตนว่า อยากฆ่า ก็ฆ่า อยากฉกชิง ก็ฉกชิง ได้  และอยากทำอะไรก็ทำตามใจตน โดยไม่สนใจใคร ได้ ตลอดเวลา และถ้าทำอย่างนั้น  สังคมส่วนรวมก็คง จะรับกันไม่ได้ ที่จะให้คนประเภทนี้ อยู่ร่วมสังคมเดียวกันต่อไปได้

            เชื่อว่า เมื่อไม่มีศาสนา ก็จะไม่มีกฎหมายที่เป็นธรรม ไม่มีธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงาม แสดงว่า ศาสนาคือแหล่งก่อเกิดกฎหมาย แหล่งกำเนิด ธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมอันดีงาม ต่าง ๆ ของมนุษย์ ในเวลาต่อมา

            หากเราย้อนหลังไป ไปเมื่อหลายพันปี  ในยุคกำเนิดศาสนา ถึงจุดก่อเกิด ของศาสนาครั้งแรก  กล่าวกันว่า ศาสนาเกิดจาก “ความกลัว”  ก็น่าจะเป็นเรื่องจริง  เพราะมนุษย์ยุคนั้น ต่างก็ เห็นฝนตก น้ำท่วม ทั้งยังเห็นฟ้าแลบ ฟ้าร้องและฟ้าผ่า ถือว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัว  อาการกลัวภัยจากฟ้า ที่มีอาการแปลก ประหลาด  ที่น่ากลัว มนุษย์จึงมองหาวิธีลด ความกลัว 

            เมื่อไม่รู้เหตุผล และความจริง ว่าจะทำอย่างไร ในการเกิดปรากฏการณ์ที่น่ากลัวนั้น ก็นึกว่าเป็นการกระทำของอำนาจที่ลี้ลับ  ยากแก่การแก้ไขได้ เป็นอำนาจลึกลับ ดลบันดาลให้เป็น  จึงต้องหาวิธีให้สิ่งลี้ลับนั้นพอใจ  ด้วยการสักการะ เซ่นไหว้ แสดงความเคารพ  ให้สิ่งลี้ลับ ที่อาจจะเป็นผี หรือพระเจ้าพอใจ แล้ว พวกตนจึงจะปลอดภัย จึงมีการจัด ทำพิธีต่างๆ เอาใจสิ่งที่ตนคิดว่าเป็นอำนาจลึกลับนั้น นี้คือจุดเริ่มต้น  ของคำว่า“ศาสนา” เพื่อยึดเหนี่ยวจิตใจ จึงได้เริ่มก่อตัวเกิดขึ้น

            จากความหมายดังกล่าว  แม้แต่พุทธศาสนา ก็เกิดจาก “ความกลัว” ของเจ้าชายสิทธัตถะ  และในนามของ โคตมะ เพราะท่าน ก็กลัว กลัวการเกิด ในชาติ ซึ่งจะนำไปสู่การแก่ คือชรา และการตาย ในที่สุดนับว่า เป็นความกลัวที่เกิดขึ้นในใจของ ท่านโคตมะ

            พระราชกุมาร (โคตมะ) ไปเห็นคนเกิด คนแก่ และคนตายข้างทาง จึงเกิดความสลดใจ แล้วก็คิดว่าเรา จะหลุดพ้นสิ่งเหล่านี้ ที่จำเจได้อย่างไร  วิธีเดียว คือต้องหาความสงบ คิดออกบวช  นั้นหมายความว่า ความกลัวที่เกิดขึ้นในใจของโคตมะ คือ มองเห็นภัยแห่งชาติชรา มรณะ ขึ้นมานั้นเอง

            จึงเห็นว่า ทุกศาสนาในโลกมีความสำคัญและมีความหมายแก่ทุกชีวิตในศาสนานั้น ๆ  เช่นเดียวกัน คนที่เกิดในครอบครัว ที่นับถือศาสนามี “พระเจ้า” หรือมี “ผู้สร้าง” ก็เกิดมาพร้อมกับการรับรู้ว่าคนนับถือศาสนานั้น และเขาก็ถือศาสนานั้นด้วยศีลธรรมตามแบบ ฉบับของศาสนา ของตนในสังคมของตน

 

            ศาสนาที่ดีงาม ที่ถูกต้องนั้น อย่างน้อยเขาก็เห็นว่า การฆ่าชีวิตอื่น นั้นเป็นบาป นั่นหมายความว่า เขามีศาสนาหรือถือศาสนาด้วยการไม่ฆ่า  ถ้าเขาไม่มีศาสนาใดๆ เลยในจิตใจ เขาย่อม เป็นที่หวาดระแวง และ น่ากลัวไม่น้อย  ในหมู่สังคมมนุษย์ เพราะเขาไม่เชื่อเรื่อง นรก-สวรรค์ ไม่เชื่อเรื่องบาป-บุญ เขาย่อมกระทำสิ่งที่เป็นอันตราย ได้ทันที

            ในทางพุทธศาสนาก็มีคำสอน และเรื่องเล่าต่อมากันว่า แม้ในยุคที่คนเสื่อมจากศาสนามาก ๆ จนคนยุคนั้นไม่รู้จักพระสงฆ์ แล้ว บุคคลที่แต่งกาย มีแค่เศษผ้าเหลือง ห้อยหู ไว้ ก็ยังถือว่า ยังมีพระศาสนาอยู่ นั่นก็หมายความว่า ศาสนาเป็นสิ่งที่มีอยู่คู่โลก - คู่สังคมมนุษย์

            ความจริง ศาสนาพุทธศาสนา นั้น ท่านใช้คำว่า “ธรรม” เป็นหลัก เมื่อรับเอาธรรมเป็นศาสนาของตน ก็ใช้คำว่า “สรณะ” คือคำว่า ศาสนาหมายถึง “เป็นที่พึ่ง” ของชีวิต เพราะพุทธศาสนาเป็นมากกว่าความเชื่อมโยงระหว่างพระเจ้า หรือเทวดา กับมนุษย์ ด้วยความเชื่อนี้ แต่เอาธรรมหรือศาสนาเป็นที่พึ่ง หรือเป็นเกาะ ที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวของชีวิต ให้ชีวิตเป็นปกติมีความสุข  เช่น เมื่อ คนถือศีล 5 ได้ ย่อม เข้าใจเชื่อว่า การละเมิดศีล นั้นเป็นบาป  และได้รับทุกข์มาตอบแทนอย่างไร เรื่องนี้ ถ้าเป็นคนไม่มีศีล ก็จะไม่เข้าใจ

            การฆ่าคนอื่น ทำลายล้างคนอื่น แม้จะมีเหตุผล ให้อ้างได้มากมาย เช่น อาจเกิดจากความคับแค้นใจ หรือเกิดจากความ ยากจน หลายประการ ที่ยกมาอ้างในการละเมิดคนอื่น  แต่สำหรับคนมีศาสนา ถือศีลของศาสนา ก็จะไม่ทำบาปด้วยการละเมิดศีลเป็นอันขาด เพราะเชื่อตามที่ศาสนาสอนว่า ผลแห่งบาปจะติดตามให้ผล แน่นอน ไม่มีใครสามารถรอดพ้นได้ แม้จะยิ่งใหญ่ เป็นเจ้าชีวิตคนได้ก็ตาม

            ส่วนกรณีคนที่ฆ่าตัวตาย ก็จะเห็นได้ชัดมาก เพราะคนมีศาสนาจะมีความอดทนดีกว่า จะไม่คิดสั้นง่าย ๆ เพราะเชื่อศาสนา ส่วนคนที่ตัดสินใจฆ่าตัวเองได้ง่าย ๆ เพราะความเชื่อทางศาสนาของเขาไม่แข็งแรงพอ จะเห็นได้ว่า ผลดีจากการมีศาสนาน่าจะมีดี มากกว่าการไม่มีศาสนา

            สมมติว่า ในยุคมิคสัญญี  ผู้คนตายันทั้งโลก  อาจเหลือคนเพียง 5 คน พวกเขาออกมา พบหน้ากัน ถ้าคนทั้งห้านั้นต่างรู้ว่าทุกคนมีศาสนา  แม้จะต่างศาสนากัน ก็คงดีใจว่า ตนปลอดภัยแล้ว

            กรณีจ่าทหารผู้ก่อเหตุสะเทือนขวัญเมื่อวันมาฆบูชาที่ผ่านมานั้น ถ้ามองในแง่ศาสนา เชื่อว่าทหารท่านนั้นเป็นคนถือศาสนาคนหนึ่ง และน่าจะเป็นชาวพุทธ เหมือนทหารคนอื่นๆ แต่ก็ถือศาสนาที่ไม่ถึงกับเอาศาสนาเป็น “สรณะ” ต่างคำกล่าวที่ว่า “พุทธัง-ธัมมัง-สังฆัง สรณัง คัจฉามิ” คือมีชื่อว่าเป็นชาวพุทธ แต่ในทะเบียนบ้าน และบัตรประชาชนเท่านั้น 

            แต่คิดว่า ทหารคนนั้นก็เชื่อในบาปบุญคุณโทษตามคำสอนของศาสนาบ้าง ก็คงจะไม่คิดก่อการอันเป็นบาปหนัก อย่างนั้น แต่เมื่อศาสนาไม่เป็นสรณะให้พึ่งได้ ในยามคับขันอย่างนั้น ศาสนาจึงช่วยเขาไว้ไม่ได้ ได้ก่อบาปแบบ ไม่มีสติยับยั้งได้

            นั้นคือเขาไม่เคยปฏิบัติธรรม และไม่เคยเห็นความสำคัญของการมีสติ ตามแนวคำสอนของพุทธศาสนา เมื่อถึงยามคับขันอย่างนั้น จึงขาด “สรณะ” มาเป็นที่พึ่งทางใจ อย่างน่าเสียดาย

            ทั้งหมด นี้ คือความจำเป็นที่มนุษย์ ต้องมีศาสนา เพื่อจะได้ใช้ในยามจำเป็นในยามขาดสติ การมีศาสนาเป็นการมีสติ มีเมตตา กรุณาต่อชีวิตอื่น การไม่มีศาสนา ของคนรุ่นใหม่ ที่กำลังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างน่ากลัว  นับว่าเป็นการมองข้ามคุณค่า ของศาสนา ซึ่งเป็นคุณค่าทางด้านจิตใจ เขาอาจลืมไปว่า การมีศาสนานั้น นอกจากจะสร้างความสุขให้แก่ชีวิตตัวเองแล้ว ยังจะทำให้รอบกายตัวเองปลอดภัย อีกด้วย

            ถ้าทหารคนนั้นเป็นคนศรัทธาในศาสนา อย่างแนบแน่น ในวันนั้น เป็นวันมาฆบูชา  วันนั้น ก็เป็นวันพระใหญ่ ที่ชาวพุทธจะไปเวียนเทียนและฟังเทศน์เหมือนปีกับทุกปี  แต่เพราะเขาไม่มีศาสนาเป็นสรณะเขาก็เลยอยู่กับความเคียดแค้น อยู่กับอารมณ์ที่จะก่อบาป  จึงมองเห็นช่องทางที่จะทำกรรมได้อย่างง่ายดาย

             จิตใจของเขาในวันนั้น เป็นจิตใจที่ห่างเหินศาสนา และลืมนึกถึงชีวิตคนอื่น ซึ่งจะต้องได้รับความทุกข์ทรมานมากมาย ในที่สุดเขาก็ลืม พ่อแม่ ลืมญาติพี่น้องของตัวเอง และลืมนึกถึงตัวเอง เช่นเดียวกับคนที่คิดสั้นฆ่าตัวตายทั้งหลาย นั่นเอง

 

            การมีศาสนานั้นมี 2 สถานะ คือ 1. สถานะของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สำหรับกราบไหว้บูชา 2.สถานะข้อปฏิบัติของชีวิตมนุษย์ ที่ไปสู่ความสงบสุข และความเจริญ

            ทั้งสองสถานะของศาสนานั้น ย่อมเป็นสรณะ เป็นที่พึ่งของชีวิตได้เสมอ คือเป็นที่พึ่งของชีวิต แต่น่าสังเกตว่า ศาสนานั้น มีได้ก็แต่สำหรับมนุษย์เท่านั้น  ส่วนสัตว์ดิรัจฉานทั่วไปไม่มีศาสนา ในบางศาสนา ศาสนา จะคุ้มครองได้ถึงสัตว์บางประเภท ไปคุ้มครองสัตว์บางประเภท  และบางศาสนา ยังกำหนด ไปคุ้มครองได้ถึงพืช และสิ่งแวดล้อม อีกด้วยนับว่า เป็นสิ่งที่ดี

            แต่ที่ชัดเจน และเห็นผลทันที คือ ศาสนาคุ้มครองมนุษย์ได้  ทั้งช่วยให้มนุษย์อยู่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัย คล้ายกับกฎหมาย หรือกฎกติกาในหมู่มนุษย์เพื่อการอยู่ร่วมกันของมนุษย์เอง ซึ่งสัตว์ดิรัจฉานไม่มี  แต่ถ้า มนุษย์ไม่มีศาสนา ลองนึกดู ก็คงไม่ต่างอะไร กับสัตว์ดิรัจฉาน   เพราะทุกขณะของชีวิต  แม้เวลาหลับ และเวลาตื่น ของมนุษย์ ย่อมมีภัย นานา ประการ ตลอดเวลา

----------------------------------------