วันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2555

พิพิธภัณฑ์-หอสมุดเมือง



แหล่งเรียนรู้ใหม่ คู่กรุงเทพมหานคร
          เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการที่กรุงเทพมหานคร ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเมืองหนังสือโลกในปี 2556 (World Book Capital 2013) กรุงเทพมหานครได้เตรียมเดินหน้าแนวคิดการสร้างแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือที่เรียกว่าเป็นบันทึกแห่งกาลเวลาหรือความทรงจำร่วมกันของสังคมของมนุษยชาติ ในรูปแบบของ พิพิธภัณฑ์สำหรับในต่างประเทศนั้นสถานที่แบบนี้ยังถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง

ความเป็นมาของ
พิพิธภัณฑ์-หอสมุดเมืองของกรุงเทพมหานคร
          นางภาวิณี อามาตย์ทัศน์ ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน อดีตผู้อำนวยการกองวัฒนธรรม กรุงเทพมหานครกล่าวว่า เมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองวัฒนธรรม ในขณะนั้นได้มีการนำเสนอโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เมืองนี้ขึ้นมา เพราะเห็นว่า กทม.ควรมีแหล่งเรียนรู้ความเป็นเมืองหลวงตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ต่อมาทางกรุงเทพมหานครได้สานต่อโดย  ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะประธานคณะกรรมการ เปิดเผยว่าแนวทางการปรับปรุงอาคารศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ให้เป็นพิพิธภัณฑ์เมืองกรุงเทพมหานคร และหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร นั้นจะดำเนินการหลังจากย้ายหน่วยงานในสังกัดที่อยู่ในอาคารศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 1 ไปอยู่อาคารทำการแห่งใหม่ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง) แล้ว ซึ่งขณะนี้การก่อสร้างอาคารสำนักงานแห่งใหม่ใกล้เสร็จสิ้นแล้ว      
 แนวคิดจัดตั้ง
พิพิธภัณฑ์-หอสมุดเมือง
           สำหรับแนวคิดจัดตั้งทั้งพิพิธภัณฑ์กับหอสมุดเมืองนั้น ก็เพื่อต้องการให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของประชาชนทุกเพศทุกวัย ตลอดจนนักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจค้นคว้าหาข้อมูลที่มีความเกี่ยวข้องกับเมืองหลวงแห่งนี้ เพราะเชื่อว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่เมืองควรจะต้องมี และเพื่อเป็นศูนย์กลางรวบรวมเก็บรักษาความเป็นเมืองไว้ให้ทุกคนได้รับรู้ว่า กว่าที่จะเป็นเมืองหลวงได้นั้นต้องผ่านกาลเวลาและมีวิวัฒนาการตลอดจนความเป็นมาอย่างไร
           เรื่องนี้ นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  กล่าวว่า พิพิธภัณฑ์และหอสมุดเมืองนั้นไม่ถือเป็นเรื่องใหม่ เพราะในต่างประเทศ หลายเมืองต่างก็ให้ความสำคัญและมีกันมานานแล้ว จะต่างที่รูปแบบวิธีการสื่อสารกับคนของตนเองให้เข้าใจและรักเมืองที่แตกต่างกัน แต่ของเรามีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความเข้าใจหวงแหนในความเป็นเมือง สิ่งใดที่บรรพบุรุษได้มอบไว้ให้ ก็จำเป็นต้องรักษาและเรียนรู้ในสิ่งที่เกิดขึ้น
          อย่างไรก็ดี ทาง กทม.จะต้องตอบโจทย์นี้ให้ได้ เพื่อให้ได้รูปแบบของพิพิธภัณฑ์และหอสมุดเมืองที่เหมาะสม โดยรองผู้ว่าฯ เสริมต่อว่า ทาง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้แนวทางไว้ว่าพิพิธภัณฑ์และหอสมุดนั้นต้องเป็นที่เรียนรู้ที่มีชีวิต มีกลิ่นไอของวัฒนธรรมที่เป็นแบบฉบับเฉพาะของ กทม.  สิ่งที่รวมรวบไว้ ไม่ใช่เป็นเพียงพิพิธภัณฑ์ที่ให้มาหาความรู้ทางวิชาการเพียงอย่างเดียว หรือจ่ายค่าบัตรเพื่อเข้าไปชมเท่านั้น แต่ต้องสะท้อนให้เห็นได้ว่าเมืองมีความสำคัญอย่างไรบ้าง พร้อมตอบโจทย์สนับสนุนแนวคิดว่า   กรุงเทพฯ เป็นมหานครแห่งการเรียนรู้

ประโยชน์จาก
พิพิธภัณฑ์-หอสมุดเมือง
           “พิพิธภัณฑ์เมืองควรเป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์ยุคเก่า แต่ก็ใช่ว่าเป็นโรงเก็บของที่ทันสมัยที่นำเสนอด้วยแสงสีเสียงครบครันแต่ไร้ชีวิต สนับสนุนให้เมืองทั่วโลกให้ความสำคัญกับเรื่องราวประวัติศาสตร์ และศาลาว่าการกทม.เสาชิงช้านั้น เพราะสถานที่นี้ผ่านเวลา ยุคสมัยมานับไม่ถ้วน เป็นสถานที่ใช้ถ่ายทอดเรื่องราวเมืองให้ประชาชนรับรู้ นักท่องเที่ยวก็จะได้เห็นวิวัฒนาการของกทม.ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ทำให้เข้าใจเอกลักษณ์เมืองนั้นๆ ตลอดจนให้เป็นที่ที่คน กทม.ทุกระดับชั้นไม่ว่าจะเป็นนักเรียนที่จะได้เข้ามาทัศนศึกษา นักท่องเที่ยวที่จะได้เที่ยวชมและรับทราบประวัติความเป็นมาของเมือง แม้กระทั่งกลุ่มผู้สูงอายุที่ได้มีสถานที่รำลึกความทรงจำ
           “นอกจากนี้ ควรต้องมีหอคอยชมเมืองซึ่งจะเป็นจุดที่สามารถชมวิวอันสวยงามของเมืองหลวงเหมือนหลายเมืองใหญ่ทั่วโลก นอกจากจะเป็นหอสูงชมทิวทัศน์ ร้านค้าขายของที่ระลึก พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกแล้ว ยังมีห้องจัดนิทรรศการที่เชื่อมโยงกับพิพิธภัณฑ์เมือง เพื่อให้เป็นสองสถานที่ที่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยว กทม.จะต้องไม่พลาดชม

ความคืบหน้า
ในการสร้างพิพิธภัณฑ์-หอสมุดเมือง
          ขณะนี้ทางกรุงเทพมหานคร ได้มีมติในที่ประชุมให้ตั้งคณะทำงานในการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์-หอสมุดเมือง กรุงเทพมหานคร โดยมีคณะอนุกรรมการ 4 ชุด ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการด้านแนวคิด เนื้อหา และองค์ความรู้เพื่อการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เมืองกรุงเทพมหานคร  คณะอนุกรรมการด้านแนวคิด เนื้อหา และองค์ความรู้เพื่อการจัดตั้งหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร  คณะอนุกรรมการด้านการปรับปรุงทางสถาปัตยกรรม ภูมิทัศน์และการออกแบบภายใน และ คณะอนุกรรมการกำหนดแนวทาง การบริหารจัดการและบุคลากร เพื่อให้การดำเนินการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เมืองกรุงเทพมหานคร และหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานครเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
รายละเอียดส่วนประกอบต่างๆ ภายในพิพิธภัณฑ์เมืองกรุงเทพมหานคร จะแบ่งเป็นโซนต่างๆ เช่นโซนภูมิศาสตร์และสภาพแวดล้อม โซนประวัติศาสตร์ โซนการพาณิชย์ โซนชุมชนชีวิตและวัฒนธรรม โซนห้องปฏิบัติการแห่งอนาคต
ส่วนหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร จะเป็นศูนย์ข้อมูลด้านสิ่งพิมพ์ ห้องโสตทัศนศึกษา และส่วนที่ใช้ค้นคว้าอ้างอิง ส่วนลานคนเมืองจะเสนอเป็นลานเอนกประสงค์ที่จัดรูปแบบและรายการต่างๆ ให้เป็นพื้นที่นันทนาการชุมชนบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้หลังจากเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครได้ย้ายไปที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานครแห่งใหม่ที่ ดินแดงได้ในช่วงต้นปี 2556 เรียบร้อยแล้ว ซึ่งตั้งเป้าให้ทั้งพิพิธภัณฑ์เมืองและหอสมุดเมืองของกรุงเทพมหานครแห่งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแห่งแรกของกรุงเทพมหานคร
อีกไม่นาน เราคงได้เห็นเอกลักษณ์ใหม่ของกรุงเทพมหานคร ที่จะเสริมความเป็นมหานครแห่งการเรียนรู้ได้ชัดเจนขึ้นอย่างแน่นอน



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น