วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

 

ตำนานโยนก ตอนที่ ๒ แผ่นดินล่มสลาย




             เมื่อสมัยเปลี่ยน เจ้าพระยาที่ปกครองดินแดน รุ่นเก่าก็สิ้นไป รุ่นบุตรและหลานก็ขึ้นครองราชย์ แทน ล้วน เกิดขึ้น ดำรงอยู่ สักระยะ แล้วก็สิ้นไป นับว่าวนเวียนกัน เกิดแล้วดับ ดับแล้วก็เกิดใหม่ เช่นนี้ ไปไม่มีที่สิ้นสุด ล้วนแต่เป็นไปตามคำสอน คำกล่าวขององค์พุทธะ ว่ามันเป็นทุกข์ กันอยู่ร่ำไป 

            แม้ชาติใดหนุนนำด้วยบุญหนัก ชักนำให้มาเกิด มีอำนาจวาสนา เป็นผู้นำหมู่ชน ก็นัว่าเป็นกรรมที่ดี ดังในรัชกาล ของราชา องค์พังคราชเจ้า เจ้านครโยนกนาคบุรี นั้น มหาศักราช ล่วงไปได้ ๒๗๗ ปี

            ครั้งนั้น นครโยนก ถึงกาลทรุดโทรม ร่วงโรย ราชอำนาจ ของราชา อ่อนน้อยถอยลง  ก็เพราะราชาขอม ที่ค่อยอ่อนแอ กลับมากำลังเข้มแข็ง ขึ้นมาอีกในราชาองค์ใหม่ พวกขอมเมืองอุโมงค์เสลานคร ก็กำเริบตั้งแข็งเมืองขึ้น แม้เจ้านครโยนก ยกพลไปปราบปรามไม่ชนะ เพราะอ่อนแอกว่า

            พวกขอมมีกำลัง และอำนาจมากกว่า ก็ยกพลโยธาเข้าตีปล้น เอานครโยนกได้ ในวันอาทิตย์ เดือน ๕ แรม ๑ ค่ำ  ตรงกับ พระพุทธศาสนาล่วงแล้ว ๙๐๐ พรรษา พระยาขอมจึงขับไล่ พระองค์พังคราชกับราชเทวีไปอยู่ ณ เวียงสีทวง ริมน้ำแม่สาย ทิศตะวันตก ของเมืองโยนกนคร และขอมเข้าจัดการ  ตั้งเมืองขึ้นเป็นใหญ่ในนครโยนก และแว่นแคว้น น้อยใหญ่ในถิ่นนี้ ทั้งปวง

            ฝ่ายพระองค์พังคราชกับราชเทวี ที่เคยเป็นเจ้าโยนกนคร เดิม นั้น เมื่อมาอยู่ ณ ตำบลสีทวงได้ ๑ ปี ราชเทวีก็ทรงพระครรภ์ ประสูติได้ราชกุมาร องค์หนึ่ง พระบิดาขนานนาม ว่า ทุกขิตะกุมาร ชื่อนี้ มีความว่า เหตุเกิด เมื่อยามทุกข์ยาก  ครั้นอยู่ต่อมาอีก ๒ ปี ราชเทวีก็ทรงพระครรภ์อีกครั้ง ครั้นพระครรภ์ครบทศมาส ก็ประสูติราชกุมาร ในวันอาทิตย์ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ ปีกาบไส้ (มะเส็ง) ราชกุมารมีวรรณะผุดผ่อง สิริรูปงดงามดุจพรหม พระบิดาจึงขนานนามว่า "พรหมกุมาร"

            ครั้นพรหมกุมาร เจริญวัย มีพระชนมายุได้ ๑๓ ขวบ มีจิตใจกล้าหาญ ชอบเครื่องสรรพยุทธ์และนิยม วิชาการยุทธ แบบทหาร ทั้งปวง ราตรีหนึ่ง ยามกลางคืนก่อนสว่าง พรหมกุมารทรงสุบินนิมิต เห็นเทพดาลงมาหา แล้วบอกว่าถ้าเจ้าอยากได้ช้างมงคลตัวประเสริฐ รุ่งเช้าวันนี้จงตัดขอไม้ไร่ถือไป

            และจงลงไปตรงฝั่งแม้น้ำนั้น เจ้าจักได้เห็นช้างเผือกล่องน้ำมาสามตัว ถ้าจับได้ตัวที่ ๑ จะได้ปราบทวีปทั้ง ๔ ถ้าจับได้ตัวที่ ๒ จะได้ปราบชมพูทวีป แต่ทวีปเดียว ถ้าจับได้ตัวที่ ๓ จะได้ปราบแว่นแคว้นล้านนาประเทศขอมดำทั้งมวล เมื่อ เทพดาบอกความแล้วก็กลับไป

 

            พรหมกุมารสะดุ้งตื่นก็พอรุ่งแจ้ง จำความฝันนั้นได้แม่นยำ จึงเรียกเด็กบริวาร ๕๐ คนมาสั่งให้ไปตัดขอไม้ไร่ ได้แล้วก็พากันไปสู่ท่าน้ำ ณ ฝั่งแม่น้ำขละนที คือน้ำแม่ของ หรือแม่น้ำโขง แล้วก็รอคอยครู่หนึ่ง ก็เห็นงูตัวหนึ่งสีเหลือง เลื่อย ตัวเป็นมันแวววาว ตัวใหญ่ยาวยิ่งนัก เลื้อยล่องน้ำมาใกล้ ช่วงท่าแม่น้ำของที่พรหมกุมาร นั้นรออยู่ตรงนั้น

            ฝ่ายพรหมกุมาร และบริวาร ก็พากันหวั่นไหวตกใจกลัว ไม่อาจจะเข้าไปใกล้ได้ ครั้นงูใหญ่ ตัวนั้นเลื่อยเลยผ่านไปแล้ว  ต่อมาอีกครู่หนึ่ง ต่อมาก็มีงูใหญ่อีกตัว ใหญ่เท่าต้นตาลเลื้อยล่องมาอีก พรหมกุมารและบริวารพากันนิ่งดู งูนั้นก็ล่องเลยไป  และสักครู่หนึ่งก็เห็นงูใหญ่ ตัวเท่าลำตาลล่องน้ำมาอีกตัวหนึ่ง

            ครั้นพรหมกุมาร และบริวาร ได้เห็นงูครบ ๓ ตัวนั้น พรหมกุมาร จึงนึกถึงความฝัน อันเทพดาบอกว่า จะมีช้างประเสริฐ ๓ ตัวล่องน้ำมา ครั้นมาพิจารณาดู ก็ไม่เห็นช้าง ได้เห็นแต่งูใหญ่ชะรอยช้างนั้น จะเป็นงูนี้เอง

            เมื่อนึกได้เช่นนั้นแล้ว จึงสั่งให้บริวารช่วยกันเอาขอไม้ไร่ เข้าเกาะเกี่ยวจับงูนั้นได้ พลันงูนั้นก็กลับกลายร่างเป็นช้าง เผือกบริสุทธิ์ พรหมกุมารมีใจยินดียิ่งนัก จึงขึ้นไปขี่บนหลังช้าง แล้วใช้ขอบังคับให้ช้างขึ้นจากฝั่ง  ช้างนั้นก็ไม่ยอมขึ้นฝั่ง แต่ได้เล่นน้ำ ทวนน้ำอยู่ไปมาทำอย่างไรก็ไม่ยอมขึ้นฝั่ง

            ครานั้น  พรหมกุมารจึงให้ บริวารรีบไปทูลพระบิดาให้ทราบ พระองค์พังคราชจึงปรึกษาโหราจารย์ โหรแนะนำให้เอาทองคำหนักพันหนึ่ง (คือหนึ่งชั่ง) ตีเป็นพาง คือกระดึงไปตีนำหน้าช้าง  ช้างนั้นจึงจะขึ้นจากน้ำได้

            พระบิดา จึงทำตามโหราจารย์ แล้วสั่งให้เจ้า ทุกขิตะกุมาร ผู้เป็นเชษฐาเอากระดึงทองคำไปตีให้เสียงดัง พญาช้าง เมื่อได้ยินกระดึงจึง เดินตาม และขึ้นจากน้ำได้  กาลต่อมา สถานที่ ที่ ๆ ช้างลอยน้ำอยู่นั้นจึงมีชื่อปรากฏว่า ตำบลควานทวน ส่วนพญาช้างมีนามว่า ช้างพางคำ

            ครั้น พรหมกุมารได้ พญาช้างมา แล้วช้างตัวนี้มีกำลังมาก เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนากองกำลังทหาร ทำให้กำลังพลโยธา กล้าแข็งยิ่งขึ้น  ต่อมาราชกุมาร จึงให้ตั้งค่ายขุดคูทดน้ำ แม่สายมาเป็นน้ำในคูเมือง จึงให้ชื่อเมืองนั้นว่า "เวียงพางคำ"  ได้ฝึกซ้อมทหาร และตระเตรียมเครื่องสรรพวุธทั้งปวง เมื่อกองกำลังเข้มแข็งแล้ว

            พระเจ้าพังคราช ก็ตั้งตัวแข็งเมือง ไม่ยอมส่งส่วย ให้แก่เมืองขอมอีกต่อไป ครั้นพรหมกุมารอายุได้ ๑๖ ปี ก็ขาดส่งส่วย เมืองขอม มา ๓ ปี  ครานั้น พญาขอมจึงเตรียมรี้พล จะมาจับพระองค์พังค์ราช  ส่วน ฝ่าย พรหมกุมาร ก็จัดเตรียมกองทัพไว้ พร้อมรอเวลานี้อยู่ อย่างไม่ประมาท

            มหาศักราชล่วงได้ ๒๙๘  สู่ปีวอก เดือน ๗ ขึ้น ๔ ค่ำ วันอาทิตย์ พญาขอมก็ยกรี้พลมา ประชิดถึงเวียงสีทวง เมื่อเจ้าพรหมกุมารได้ทราบ ก็ขึ้นทรงช้างเผือกพางคำ ยกรี้พลออกจากเวียงพางคำ ไปโจมตีทัพพญาขอม ณ ตำบลทุ่งสันทราย ก็ได้ชัยชนะโดยง่าย ด้วยช้างม้ารี้พลพญาขอม ได้เห็นช้างเผือกพางคำก็พากันแตกตื่นพ่ายหนีไป

            พรหมกุมาร ก็เดินทัพตามมาตี จนถึงเมืองโยนกนครหลวง เข้าล้อมเมืองไว้ แล้วตีหักเข้าเมืองได้ขอมทั้งหลายพากัน แตกพ่ายหนีล่องไปทิศใต้  พรหมกุมารได้เมืองโยนกนครแล้ว ก็พักพล ให้หายอิดโรยก็ยกทัพตามตีขอมต่อไป ได้ตีเมืองขอมน้อยใหญ่ได้อีกหลายเมือง

            ไม่ว่าพวกขอมจะหนีไปทางไหน ก็ถูกตามไปตีถึงที่นั้น ขณะนั้นก็ร้อนไปถึงองค์อมรินทร์ ทรงรำพึงว่าเจ้าพรหมกุมารไล่กำจัดขอมไม่ยอมหยุดยั้ง ชีวิตมนุษย์จะเป็นอันตรายยิ่งนัก

            จำจะต้องช่วยป้องกันเอาไว้ จึงได้มีเทวโองการ สั่งให้พระวิษณุกรรมเทพบุตร ลงไปเนรมิตรกำแพงศิลากั้นทางที่พรหมกุมารเดินทัพตามไปตีพวกขอม เจ้าพรหมกุมารก็ไม่สามารถเดินทัพผ่านกำแพงศิลาไปได้ เมืองนั้นจึงได้ชื่อว่า "เมืองกำแพงเพชร" ฝ่ายขอมทั้งหลายที่เหลือตายก็พากันล่องแม่น้ำระมิงค์ ลงไปจนถึงฝั่งน้ำสมุทรแดนเมืองอินทรปัตถ์นคร

            เจ้าพรหมกุมาร ก็เลิกทัพกลับคืนมา โยนกนคร ต่อมาจึงได้ อัญเชิญพระองค์พังคราชผู้เป็นบิดาเข้าครองราชย์ สมบัติในโยนกนครตามเดิม ให้เจ้าทุกขิตกุมารพระเชษฐาเป็นมหาอุปราช ตั้งแต่นครโยนกเสียแก่ขอมเมืองอุโมงค์เสลามานานได้ ๑๙ ปี จึงได้กลับคืนมาเป็นราชธานีดังเก่า จึงมีนามว่า พระนครไชยบุรีสืบมา

            ฝ่ายเจ้าพรหมกุมาร ไม่ไว้ใจเชิงศึก เกรงว่าขอมจะกลับมาอีกจึงไปสร้างเมือง ณ ริมแม่น้ำฝาง ซึ่งไหลมาบรรจบแม่น้ำกก ฝั่งใต้อันเป็นต้นทางที่ขอมจะมา  ครั้นสร้างสำเร็จจึงขนานนามว่า เมืองไชยปราการ สำเร็จในวันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนยี่ เมืองนั้นอยู่ห่างเมืองโยนก เชียงแสน ระยะทางคนเดินสองวัน ก็คือเมืองฝางทุกวันนี้ 

            ส่วนเจ้าพรหมกุมาร ก็เสด็จมาครองราชย์สมบัติอยู่ ณ เมืองไชยปราการ นี้ เหตุฉะนั้นแว่นแคว้นโยนกจึงมี ๔ นคร คือ ไชยบุรีโยนกนครหลวงหนึ่ง เวียงไชยนารายณ์แคว้นขวาหนึ่ง เวียงไชยปราการแคว้นซ้ายหนึ่ง เวียงพางคำหนึ่ง ลำดับนั้นพระองค์พังคราช จึงให้สู่ขอนางแก้วสุภา ราชธิดาพระยาเรือนแก้ว เจ้าเมืองไชยนารายณ์อันเป็นตระกูลเดียวกันมาอภิเษกแก่เจ้าพรหมกุมารผู้ครองนครไชยปราการ ต่อมาบังเกิดโอรสองค์หนึ่ง ทรงนามว่าไชยศิริกุมาร (พระเจ้าพรหมมหาราช ถือเป็นมหาราชองค์แรกของชนชาติล้านนา)

            ส่วนพระพุทธศาสนาได้ รุ่งเรืองสมบูรณ์ ลุล่วงแล้ว ๙๕๖ พรรษา ก็ยังมี มหาเถระเจ้า ตนหนึ่งชื่อพระพุทธโฆษา เป็นชาวโกศล เมืองสุธรรมวดี ในรามัญประเทศ ท่านได้ออกไปสู่ลังกาทวีป ได้นำคัมภีร์พระไตรปิฎก จากลังกาทวีปโพ้น มาสู่รามัญประเทศ และพุกามประเทศ แล้วท่านได้ มาสู่แว่นแคว้นโยนกนครไชยบุรีเชียงแสน เมื่อ วันจันทร์ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๖ ปีชวด

            มหาศักราชได้ ๓๓๕ ได้นำพระบรมสารีริกธาตุทั้ง ๓ ขนาดรวม ๑๖ องค์ มาถวายแก่พระองค์พังคราชเจ้านครโยนก ท่านจึงแบ่งพระบรมธาตุขนาดใหญ่หนึ่ง ขนาดกลางสอง รวมสามองค์ส่งไปให้พระยาเรือนแก้วเมืองไชยนาราณ์   พระยาเรือนแก้วพร้อมด้วยพระมหายานเถร ได้รับพระบรมธาตุ แล้ว ก็สร้างพระสถูปไว้ ณ ท่ามกลางเมืองไชยนารายณ์ ชื่อว่าธาตุเจ้าจอมทอง

            ฝ่ายพระองค์พังคราชก็ให้สร้างเจดีย์องค์หนึ่ง ตั้งอยู่บนจอมเขาดอยน้อย ซึ่งเรียกว่า ดอยจอมกิติ  เป็น พระเจดีย์นั้นกว้าง ๓ วา สูง ๖ วา ๒ ศอก บรรจุพระบรมธาตุ  สร้างสำเร็จ ในวันจันทร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ครั้งนั้น ได้จัดงาน มหกรรมฉลองพร้อมกับกับพระธาตุจอมทอง เมืองไชยนารายณ์

            กษัตริย์ทั้ง ๓ พระองค์  ล้วนตั้งอยู่ในทศพิศราชธรรม  ล้วนเป็นพระยาธรรมโยแท้ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลมิได้ขาด ลุศักราช ๓๓๓ ปี พระองค์พังค์ก็ได้เสด็จสวรรคต พระอุปราชทุกขิตาได้เสวยราชในเมืองโยนกสืบมาได้ ๑๖ ปี ลุศักราชได้ ๓๔๙ พระเจ้าทุกขิตะราช ทรงประชวรและเสด็จสวรรคต ลำดับนั้นพระองค์มหาวันราชโอรสพระชนม์ได้ ๔๖ พรรษาได้สืบสุริยวงศ์ ดำรงราชสมบัติ ต่อไป

            ฝ่าย พระเจ้าพรหมมหาราช นั้น ก็เสวยราชสมบัติในนครไชยปราการได้ ๕๙ พรรษา มหาศักราชได้ ๓๕๕  จึงเสด็จสวรรคต เสนาอามาตย์ จึงพร้อมกันอัญเชิญพระองค์ไชยศิริราชโอรสขึ้นเสวยราชสมบัติสืบต่อมา ลุศักราชได้ ๓๖๕ พระองค์ไชยศิริ ก็ดำรงราชสมบัติในนครไชยปราการได้ ๑๑ ปี

ยังมีกษัตริย์เจ้าองค์หนึ่ง เป็นใหญ่ในสุธรรมวดีมหานคร คือเมืองสะเทิมในรามัญประเทศ ทางทิศหรดี ฝ่ายฟากแม่น้ำคงฝั่งตะวันตก ได้ยกพยุหโยธา มีรี้พลอันมากข้ามแม่น้ำคง มาถึงตำบลโพธิ์ ๔ ต้น  ชาวเมืองมิลักขุทั้งหลาย จึงมาแจ้งข่าวศึก ยังนครไชยปราการให้ทราบ  

            ฝ่าย พระเจ้าไชยศิริทรงทราบ ข่าวการศึก ก็แจ้งข่าว ต่อไปยังพระเจ้านครไชยบุรีโยนก และพระเจ้านครไชยนารายณ์ให้ทราบ ครานั้น กษัตริย์ทั้ง ๓ นคร ก็จัดกองกำลัง ป้องกันพระนครเป็นสามารถ แล้วส่งกองทัพไปสู้รบต้านข้าศึก กองทัพได้ยกออกไปจากนครไชยปราการ ณ วันอังคาร เดือน ๗ ขึ้น ๑ ค่ำ ไปตั้งค่ายมั่น ณ ตำบลห้วยเป้า และตำบลโป่งน้ำร้อน ช่องเขาแดนเมือง ได้สู้รบกับกองทัพพม่า รามัญ และไทยใหญ่เป็นสามารถ ตั้งแต่เดือน ๗ จนถึงเดือนอ้าย กองทัพพม่ารามัญก็มิถดถอย ยิ่งหนุ่นเนื่องกันหนัก ฝ่ายกองทัพชาวโยนก  ก็อิดโรยอ่อนกำลังก็ถอยล่ามาทุกวัน

            พระเจ้าไชยศิริราชให้โหราจารย์ คำนวนดูชะตาเมือง โหรถวายพยากรณ์ว่าชะตาเมืองขาดตกที่ศูนย์ทั้งสามฐาน เห็นการจะรักษาไว้มิได้ พระเจ้าไชยศิริได้ ฟังดังนั้นจึงดำรัสว่าเราจะไม่ยอมเป็นเชลยของใคร เมื่อชะตาเมืองขาดเสียแล้ว เราก็จักทำเมืองให้เป็นป่า ไปหาที่ตั้งเมืองอยู่ใหม่ พระองค์จึงกำหนดให้ป่าวประกาศแก่เสนาอำมาตย์ราษฎรทั้งปวง ให้รวบรวมเสบียงอาหาร ทรัพย์สิ่งของแต่ที่พอจะเอาไปได้ ที่เหลือจากเอาไปไม่ได้นั้น  ก็ให้จุดไฟเผาบูชาเพลิงเสียจงสิ้น อย่าเหลือไว้ให้ข้าศึกได้ เสนาอำมาตย์ราษฎรชาวนครไชยปราการ ก็กระทำตาม ที่พระราชาบริหาร

            กาลลุ มาถึงมหาศักราช ๓๖๖ ปีมะเส็ง วันพฤหัสบดี เดือน ๘ แรม ๑ ค่ำ พระเจ้าไชยศิริก็ยกรี้พลครอบครัว อพยพออกจากนครไชยปราการ ครั้นจะขึ้นไปทางเมืองไชยบุรีเชียงแสน ทางต้องข้ามแม่น้ำกก เป็นฤดูฝนน้ำหลากข้ามยาก จึงให้ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ทางผาหมื่น ผาแสน แล้วไปถึงเขาชมภูคือดอยด้วน ซึ่งภายหลังเป็นที่ตั้ง เมืองพะเยา

            พระองค์ ได้พักพลอยู่ที่ดอยด้วนนั้น พอหายอิดโรยแล้ว ก็ยกพลล่วงลงมา ทางทิศใต้ เดินทางพักผ่อนรอนแรมมาได้ ๑ เดือน ก็บรรลุถึงแดนเฉลี่ยง ซึ่งพระเจ้าพรหมมหาราช พระราชบิดาได้ปราบขอมลงไปถึงถิ่นนั้นตั้งแต่กาลก่อน จึงพักพลอยู่ ณ ที่ใกล้เมืองร้าง ตรงฟากฝั่งกับเมืองกำแพงเพชร (คือเมืองแปบ) มีปะขาวคนหนึ่ง มาชี้ที่ตั้งนครว่า ขอมหาราชจงตั้งพระนคร ณ สถานที่นี้เถิด เป็นชัยภูมิดี บ่มีข้าศึกมาเบียดเบียนได้ แล้วปะขาวก็อันตธานหายไป เฉพาะหน้าพระที่นั่ง

            พระเจ้าไชยศิริก็แจ้งประจักษ์ในพระทัยว่า องค์อมรินทร์ธิราชเสด็จมาชี้ที่ตั้งพระนคร มีพระทัยโสมนัสปรีดายิ่งนัก จึงให้ตั้งหลัก พักพล  ณ ที่นั้นถ้วน ๓ วัน ลุถึง ณ วันอังคาร เดือน ๙ แรม ๕ ค่ำ จึงให้ฝังหลักเมืองตั้งพระนคร ล้อมระเนียด ตั้งค่ายคู ประตู หอรบ ครบบริบูรณ์ ครั้นสำเร็จจึงขึ้นครองนครขนานนามว่า เมืองกำแพงเพชร

             เมื่อนี้ เริ่มต้น มีประชาชน คนแสนครัวก็ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำแม่ระมิงค์ ตลอดสบน้ำทั้งสองฟาก มีพระนามปรากฏว่า พระเจ้าไชยศิริเชียงแสน เป็นใหญ่ในแคว้น นั้นสืบมา

            ทางด้านนครไชยปราการ เมืองฝางนั้น ครั้นเมื่อพระเจ้าไชยศิริอพยพไพร่พลเมืองมาเสียแล้ว กองทัพชาวสุธรรมวดี ก็เข้าเมืองไชยปราการได้ ก็มิได้พบปะผู้คน และทรัพย์สิ่งของ เสบียงอาหารอันใดเหลืออยู่เลย นอกจากเถ้าและถ่านเพลิง พระเจ้าสุธรรมวดีก็ให้เลิกทัพกลับคืนนคร

            ฝ่ายพระองค์มหาวัน ครอบครองนครไชยบุรีโยนก ได้ ๒๐ พรรษา ถึง ณ ปีวอก มหาศักราชได้ ๔๖๗ ก็เสด็จทิวงคต พระชนมายุได้ ๖๗ พรรษา  ลำดับนั้นจึงพระองค์มหาไชยชนะ ราชโอรสได้รับราชาภิเษกทรงราชสมบัติ สืบสันตติวงศ์ องค์ต่อมา

            ลุศักราช ๔๖๗ ปีเถาะ  พระองค์มหาไชยชนะเสวยราชย์ได้ ๑ ปี อยู่มาวันหนึ่ง เป็นวันเสาร์ เดือน ๗ แรม ๗ ค่ำ มีราษฎรคนหนึ่งไปหาปลา ในแม่น้ำกุกะนที ได้ปลาไหลเผือกตัวหนึ่งใหญ่เท่าลำตาลยาว ๗ วา พวกเขา ก็พากันทุบตีหวังให้ตาย แล้วผูกเชือกชักลาก มาตามลำห้วย ซึ่งภายหลังมีชื่อว่า ห้วยแม่ลาก

            ชาวเมืองเห็นว่าแปลก จึงนำ ปลาไหลเผือก นั้น มาถวายพระเจ้านครโยนกมหาวันไชย  เจ้านครโยนก ไม่ได้พิจารณาให้รอบคอบ  ทรงสั่งให้แล่เนื้อ  ปลาไหลเผือก นั้น ออกแจกจ่ายกิน กันทั่วทั้งเมือง   

            ครั้นล่วง เวลาราตรีกาลค่ำ คืนวันนั้น ในปฐมยาม หรือประมาณตีหนึ่ง  แผ่นดินก็เกิด สะท้าน สะเทือน ดังสนั่น ครั่นครื้น ขึ้นครั้งหนึ่ง ครั้นล่วงเข้ามัชฌิมยาม ยามสอง แผ่นดินเมือง ก็ดังสนั่นลั่นเลื่อนอีกครั้ง  พอล่วงเข้าปัจฉิมยาม แผ่นดินเมือง ก็ดังกึกก้อง เป็นคำรบสาม

            ในที่สุด พื้นแผ่นดิน แห่งเมืองโยนกนคร ก็ทรุดล่มจมลง กลายเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ ไปชั่วพริบตา พระเจ้าแผ่นดินและขัติยวงศาเสนาอำมาตย์ราษฎรบรรดาที่อยู่ในนครนั้น ก็ถึงกาลกิริยาไปตามยถากรรม ยังเหลือแต่เรือน หญิงม่ายหลังหนึ่งค้างอยู่ขอบหนอง

            ครั้นรุ่งขึ้นเช้า ขุนพันนาและชาวบ้านนอก เมืองทั้งหลาย ต่างก็พากันไปดูเหตุการ ได้พบหญิงม่ายคนนั้น จึงไถ่ถามก็ได้เนื้อความจากถ้อยคำแห่งหญิงม่ายนั้นว่า  เมื่อเวลาพลบค่ำมีมาณพหนุ่มน้อยผู้หนึ่งมาจากเมืองใดก็ไม่ทราบ มาขอพักอาศัยอยู่ที่เรือนหญิงม่ายนั้น

            มานพนั้น ถามว่าชาวเมืองนี้ เอาอะไรมากินกัน ทำไม่กลิ่นหอมยิ่งนัก หญิงม่ายนั้นจึงตอบว่า เขาได้ปลาไหลเผือกตัวใหญ่มาตัวหนึ่ง แล้วนำมาถวายองค์ราชา  องค์ราชานั้น ก็ตรัสว่า ให้แล่เนื้อแจกจ่ายกันไปกิน

            ส่วน มาณพผู้นั้น ก็ถามว่า ป้าได้กินกับเขาด้วยหรือไม่ หญิงม่ายผู้นั้นตอบว่า ป้าเป็นคนชรา เป็นแม่ร้าง แม่ม่ายหาลูกหลาน มิได้ ไม่มีใครให้กินหรอก มาณพนั้นจึงกล่าวแก่หญิงม่ายนั้นว่า ป้าไม่ได้กินก็ดีแล้ว อย่าได้พูดจาไป ข้าของลาก่อน

            ข้าจะไปเที่ยวยามหนึ่งก่อน ภายหลังมีเหตุการณ์ประการใดก็ตาม ถ้ายายยังไม่เห็นข้า ผู้หลานนี้กลับมา ก็อย่าได้ลงจากเรือนก่อนเป็นอันขาด จำความหลานไว้ให้ดี

            เมื่อ สั่งเช่นนี้แล้ว มาณพหนุ่มก็ลงจากเรือนไป ได้สักครู่ใหญ่ ก็ได้ยินเสียงดังมา สนั่นหวั่นไหว ได้ยินแต่เสียงอึกทึกโกลาหล ต่อมาเสียงโกลาหลนั้นก็สงบไป แล้วก็กลับมาดังอีกเล่า ครั้นดัง ครบถ้วน ๓ ครั้ง หายไป นางก็แลเห็น ทั้งเมือง ในเมืองก็เห็นแต่น้ำ เต็มไปหมด

            เมื่อขุนพันนา ทั้งหลาย ได้ฟังหญิงม่ายเล่าความดังนั้น จึงได้ทราบเหตุ เขาก็รับเอาหญิงม่ายนั้นไปเลี้ยงไว้  แล้วเขาก็ประชุมกัน เลือกสรรเอาโภชก นายบ้านผู้หนึ่งชื่อขุนลัง ยกขึ้นเป็นประธานาธิบดี แล้วจึงสร้างเมืองใหม่ริมแม่น้ำของ ฟากตะวันตก เป็นเบื้องตะวันออกแห่งเมืองเก่าที่ล่มจมเป็นหนองน้ำนั้น

            ให้ตั้งหลักเมือง สร้างเมืองใหม่ ในวันอังคาร เดือน ๘ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีเมิงเม้า คือปีเถาะ มหาศักราชได้ ๔๗๖ สร้างสำเร็จแล้วให้ชื่อว่า "เวียงปฤกษา" (ปรึกษา) แต่นั้นมาก็สิ้นกษัตริย์วงศ์สิงหนวัติ นับได้ ๔๕ ราชวงศ์ แต่ก็ยังเหลือ เมืองไชยนารายณ์ พระยาสร้อยหล้า ลูกพระยาสร้อยฟ้ายังครองราชย์สมบัติ อยู่ต่อมา แต่ข้างฝ่ายเมืองไชยบุรี ก็มีแต่ชาวเมืองสืบต่อ กันมา

            มหาศักราชได้ ๔๗๘ ขุนลัง ก็ได้สร้างเจดีย์ธาตุดอยขัน ขึ้นในวันศุกร์ เดือน ๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีมะเส็ง ครั้นต่อมา ลุศักราช ๔๘๖ ขุนลัง ก็ครองเมือง เป็นราชาเมืองได้ ๑๑ ปี ก็มีนายบ้านผู้หนึ่งชื่อว่า ขุนข้าง ได้กินเมืองสืบมา ได้อีก ๗ ปี ศักราช ๔๙๒ ขุนข้างถึงแก่กรรม

            ขุนลาน ผู้บุตร ก็ได้ครองเมืองสืบไป ศักราชได้ ๕๐๐  ปี ขุนลานป่วย ถึงแก่กรรม ขุนถานได้แทนที่เจ้าเมือง  ศักราชได้ ๕๐๗ ปี ขุนถานกินเมืองได้ ๘ ปี ถึงแก่กรรม ต่อมาก็เป็นขุนตาม ได้ขึ้นแทนที่ เป็นเจ้าเมือง  วงศ์ราชานี้  มีเจ้าเมืองสืบต่อกันมาอีกหลายคน คือ ขุนตง ขุนติม ขุนแต่ง ขุนจันทร์ ขุนคง ขุนจวง  ขุนทรง ขุนชิต ขุนอินทิ ขุนสุทธิ และ ขุนศุกขะ

            จนถึงศักราช ๕๙๙ ปีจอ รวม ๑๕ ชั่วอายุเจ้าเมือง ตั้งแต่พุทธกาลล่วงได้ ๑๑๑๐ พรรษา จนมาถึงพุทธกาลได้ ๑๑๘๑ พรรษา  รวมเป็นเวลาที่ขุนแต่งเมือง หรือประธานาธิบดีเวียง ปฤกษา มานานได้ ๙๓ ปี จึงถึงสมัยกาลที่ พระเจ้ากรุงภุกาม ผู้ทรงนาม อนุรุธธัมมิกราช ลบมหาศักราช ตั้งเป็นจุลศักราช เอกศกขึ้นใหม่ในปีกุน วันอาทิตย์เดือน ๕ แรม ๑๓ ค่ำ ข้อความ ในตำนาน ราชา ทศพิราชธรรม แห่งสิงหนวัติก็ยุติเพียงเท่านี้

            ปัจจุบัน ก็เหลือแต่ตำนาน ให้เล่าขาน และร่องรอยของแผ่นดิน ที่เป็นหลักฐานว่าจริง ให้อนุชนรุ่นหลังได้ รู้ถึงความรุ่งเรือง ความสำเร็จ ความผิดพลาด ความล้มเหลว ของบรรพบุรุษ ให้มนุษย์รุ่งหลังได้ ศึกษาเป็นบทเรียน ว่าความหลงผิด คิดผิด กระทำผิดพลาดนั้น ยังผลต่อไปถึง ความวิบัติแห่งตน วิบัติ แห่งหมู่คณะ วิบัติ แห่งดินแดน  ที่เรียกว่า การล่มสลาย ของแผ่นดิน ได้อย่างไร เพราะประวัติศาสตร์ พร้อมที่จะย้อนรอยเดิมเสมอ ถ้ามนุษย์ยุคต่อ ๆ มายัง ไม่เปลี่ยนเส้นทางเดิน แบบเดิม ผลตามมาก็คง สรุปกัน เป็นแบบเดิม เดิม ไม่ว่าจะเป็น ความรุ่งเรือง และความล่มสลาย แห่งแผ่นดิน

-------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น