วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

 

นครโยนก ตระกูลพญานาคสิงหนวัติ #ตอนที่ ๑




            ฟ้าบันดาล ดินประทาน ประสานบุคคล ประสานเทพ นาค ภารกิจ อันเที่ยงธรรมนั้น ย่อมสมบูรณ์

            หลังจากแคว้นสุวรรณโคมคำ ล่มสลายลงไปแล้ว  ก็ได้เกิดแคว้นใหม่ขึ้นมาแทนที่ ในเวลาต่อมา เรียกว่า แคว้นโยนก อันเป็นต้นเคล้าถิ่นกำเนิด ของชาวไทยยวน หรือ ชาวล้านนา ก่อนก่อกำเนิดอาณาจักรอ้ายลาว และอาณาจักร น้อยใหญ่ ในลุ่มแม้น้ำ ขละนที หรือแม่น้ำโขง ในปัจจุบัน

            ครั้งนั้น มีพระมหากษัตริย์ อ้ายลาว องค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า "พระเจ้าเทวกาล" เป็นใหญ่กว่าเชื้อไทยทั้งหลาย  หมายถึง ชาวเชื้อสายไทเมือง หรือไทใหญ่ ที่อาศัยอยู่ ปลายแม่น้ำเอราวดี ทั้งพม่ายังเรียกว่า ไทยโม  พระองค์ได้ เสวยราชสมบัติ ณ เมืองนครไทยเทศ คือเมืองราชคฤห์มหานคร  แต่คงไม่ใช่ กรุงราชคฤห์ในอินเดีย  เพียงแต่ชื่อตั้งคล้ายกัน ของยุคสมัยที่ต่างกัน พระนครแห่งนี้ ล้วนสมบูรณ์ด้วยราชสมบัติ อันมั่งคั่ง ประชาชน พลานิกรต่างสโมสรเกษม สุขยิ่งนัก เพราะผู้ครองนครทรงธรรม

            พระมหากษัตริย์เจ้านครไทเทศ มีพระโอรสถึง ๓๐ องค์ พระธิดา ๓๐ องค์ เมื่อโอรสธิดามีพระชนมายุ พอสมควรแล้ว พระบิดาจึง จัดพิธีอภิเษกให้เป็นคู่ ๆ กันไป แล้วก็แบ่งปันราชสมบัติให้แยกย้ายกันไปเป็นพระยา ปกครองนครต่าง ๆ ใน แดนจตุรทิศ  ในดินแดนน้อยใหญ่แห่งตน

            เว้นแต่ พระเชษฐา โอรส องค์ใหญ่ ผู้มีนามว่า "ภาทิยกุมาร" พระบิดาให้เถลิงอุปราชาภิเษก ขึ้นดำรง ตำแหน่งอุปราช เพื่อจะให้สืบราชสันตติวงศ์ ในนครไทยเทศ ในกาลข้างหน้า  ฝ่ายราชกุมารและกุมารีทั้งหลาย ซึ่งพระบิดาให้ไปปกครองนครต่าง ๆ นั้น ก็กราบขอพร และทูลลาพา บริวารของตนแยกย้ายกันไป

            ราชกุมาร องค์น้อย ทรงพระนาม "สิงหนวัติกุมาร" เหตุด้วยมีกำลังมากดุจราชสีห์ ราชกุมารองค์นี้พาบริวารไป เป็นคนจำนวนแสนครัว ออกจากนครไทยเทศในเดือน ๘ ขึ้น ๒ ค่ำ วันพุธ ข้ามแม่น้ำสารยูไปหนอาคเนย์ เพื่อจะแสวงหาภูมิประเทศที่เหมาะสม จะตั้งพระนคร

            เสด็จสัญจร รอนแรม ในป่าได้สี่เดือน  ถึง ณ วันศุกร์ เดือน ๕ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ก็ลุถึง แม่น้ำขละนทีคือแม่น้ำของ หรือแม่น้ำโขง  อันเป็นแว่นแคว้น เดิมของสุวรรณโคมคำขอมเขต ที่เคยล้มสลาย ซึ่งในเวลานั้น เป็นเมืองร้างมานาน ตั้งแต่ครั้งศาสนาพระพุทธเจ้ากัสสปะ

            สมัยนั้นมี มิลักขุชน ชาวป่าชาติละว้า (ลั๊วะ) หรือลาวตั้งเคหสถานเป็นหมู่ ๆ อยู่ตามแนวภูเขา มีหัวหน้าเรียกว่า "ปู่เจ้าลาวจก" เหตุผู้เป็นหัวหน้านั้นมีจก จกหรือจอบ คือ จอบ ขุดดิน เจ้าลาวจก นี้มีจอบขุดดินนี้ มากกว่า ๕๐๐ เล่ม สำหรับแจกจ่ายให้หมูบริวารเช่ายืมไปทำไร่

            สถานที่ซึ่งปู่เจ้าลาวจก อาศัยอยู่นั้น เรียกกันว่า ดอยสามเส้า หรือสามยอด คือมีดอยทา อยู่หนเหนือหนึ่ง ดอยย่าเถ้า อยู่ท่ามกลางหนึ่ง ดอยดินแดง หรืออีกนามหนึ่งว่าดอยปู่เจ้า อยู่เบื้องทิศหนใต้

            ดอยทั้งหลายนี้ ครั้นต่อมา เรียกว่า ดอยตายะสะ แต่บัดนี้เรียกว่า ดอยตุง มีอยู่หนพายัพเมืองเชียงแสน ระหว่างแดนต่อแดนกับเมืองเชียงตุง แม้นามเมืองเชียงตุง ก็ได้มาจากนามดอยนี้ เช่นกัน   เหตุอันเรียกดอยม่อน เหนือว่าดอยทานั้น เพราะเป็นทางขึ้นลง เป็นท่าซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้า พืชไร่ในระหว่างพวกลาวจก กับพวกขอมชาวเมือง จึงเรียกดอยม่อนนั้นว่าดอยท่า กลายมาเป็นดอยทา ส่วนดอยม่อนกลางซึ่งเรียกว่าดอยย่าเถ้า เพราะเป็นบ้านของย่าเถ้า ผู้เป็นภรรยาของปู่เจ้าลาวจก ส่วนปู่เจ้าลาวจก อยู่ดอยดินแดงจึงเรียก ดอยปู่เจ้า

            ครั้นภายหลังมา ดอยดินแดง เป็นที่ประดิษฐาน พระมหาสถูป บริเวณพระสถูปนั้น หมายเขตด้วยธงรูปตะขาบใหญ่ คนทั้งหลายจึงเรียกว่า ดอยธง หรือดอยตุง ในปัจจุบัน  บางตำนานก็เรียกว่า เกตุบรรพต  และนามเมืองเชียงตุง นั้น มีอีกนามว่า เขมรัฐโชติตุงบุรี  สำแดงความว่า ธงอันสุกใสในแว่นแคว้นขอม  

            ในสถานที่เชิงดอย  นั้นเป็นที่เจริญ ด้วยเป็นตลาด ซื้อขายพืชไร่นั้น จนภายหลังกลายเป็นเมืองไร ที่ตลาดขายบวบ กลายเป็นเมืองบวบ ดังปรากฏ มาจนทุกวันนี้

            เมื่อเจ้าสิงหนวัติกุมาร กับหมู่บริวารได้มาถึงถิ่นประเทศนี้แล้ว ก็ตั้งหลัก พักพลอยู่ริมฝั่งแม่น้ำละว้านที คือน้ำแม่สาย ในบัดนี้  ที่ตั้งนั้น อยู่ห่างจากน้ำของ ๘๐๐๐ วา หรือ ๓๕๐ เส้น ครั้น ณ วันศุกร์ เดือน ๖ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีร่วง เป้าฉลู อัฐศก ศักราชขึ้นใหม่เป็นปีที่ ๑๗ 

            ครั้งนั้น ยังมี พญานาคราช ตัวหนึ่ง จำแรงกายเป็นพราหมณ์ เข้ามาสู่สำนัก เจ้าสิงหนวัติกุมาร ได้กล่าวคำสนทนา ตามสมควรแล้ว

            ก็แสดงตน  ให้ทราบว่า ตนนี้เป็นนาคราชผู้อารักขาสถาน ถิ่นแห่งนี้  มีนามกรว่า "พันธุนาคราช" แล้วกล่าวคำอนุญาต ให้เจ้าสิงหนวัติกุมาร ตั้งพระนคร ในดินแดนแห่งนี้ได้  และจะช่วยสร้างพระนคร แห่งนี้ แต่มีข้อแม้ ว่า ให้สัจจะ คำปฏิญาณแห่งราชกุมารว่า การปกครอง บ้านเมืองนั้น ขอให้พระองค์ อย่าเป็นราชา ที่เป็นพาล ต้องตั้งตน อยู่ในศีลสัตย์ สุจริตเป็นธรรม ตั้งปกครองชน อยู่ในทศพิศราชธรรม เมื่อตกลงกันดีแล้ว

            ฝ่ายพญานาค นาคพันธุ ในร่างพราหมณ์ ก็อำลาไป ทั้งได้นำ ราชบุรุษเสนาอามาต ๗ คน ของ เจ้าสิงหนวัติกุมาร ไปตรวจแผ่นดิน อาณาเขตบริเวณสถานที่ ที่จะให้ตั้งพระนคร  ดินแดนนี้อยู่ ทางทิศหรดี  ไกลไปประมาณ ๑๐๐๐ วา

            เมื่อถึงสถานที่นั้นแล้ว แนะนำกันพอเข้าใจแล้ว พญานาคพันธุพราหมณ์  ก็แฝงกาย หายกายวับไป ฝ่ายราชบุรุษอามาตย์ ทั้ง ๗ คน ก็ได้เห็นเป็นอัศจรรย์ใจ แล้วก็กลับมาทูลความ จริงแก่เจ้าสิงหนวัติกุมาร

            ครั้นราตรีกาลดึกสงัด ในวันนั้น บรรดา นาคราชทั้งหลาย ก็สำแดงฤทธิ์ขวิดควัก ขุดแผ่นดินพสุธาดล ดันเป็นคู เมือง ขอบรอบอาณาเขต ดันดินสร้างเป็นกำแพงเมือง กว้าง ๓๐๐๐ วา โดยรอบทุกด้าน เมื่อสร้างเสร็จ รอบทิศกำแพงเมืองแล้ว พวกเสนานาคราช ก็กลับคืนสู่บาดาลที่อยู่แห่งตน 

            ดังว่า เมืองนี้สำเร็จด้วย นาคานุภาพ จึงได้มีนามว่า นาเคนท์นคร นาคบุรีก็เรียก อีกนามหนึ่งเรียกตาม พันธุนาคราชกับนามเจ้าสิงหนวัติกุมาร มารรวมกันว่า "เมืองนาคพันธุสิงหนวัตินคร"

            แต่ภายหลังมา เรียกว่า "โยนกนครหลวง"   พอรุ่งเช้า เจ้าสิงหนวัติกุมาร ก็เสด็จตรวจเห็นภูมิสถานที่จะสร้างพระนครแล้ว ก็ทรงปราโมทย์ ยินดี จึงให้ระดมไพร่พล ตั้งเขตป้องกันเมืองหน้าด่าน ให้ทำการสร้างปราการนคร และพระราชนิเวศน์ มนเทียรสถาน ที่ประทับอันวิจิตรพิสดาร กาลไม่นานก็เสร็จ ครบถ้วน

            เจ้าสิงหนวัติกุมาร จึงเสด็จเข้าครองนคร เป็นปฐมกษัตริย์ขัติยวงศ์ ดำรงโยนกนาคนคร จึงให้เรียกขุนมิลักขุทั้งหลาย มาถวายบังคม ขุนมิลักขุชนทั้งหลาย และบริวารก็พากันอ่อนน้อม ยอมขึ้นอยู่ในพระราชอำนาจทั้งสิ้น เว้นแต่พวกขอมเมือง อุมงคเสลานคร หายอมไม่

            ล่วงมาได้ ๓ ปี พระเจ้าสิงหนวัติ ก็ยกพลโยธาไปตีเมืองชาวขอม พวกขอมสู้รบต้านทานกำลังไม่ได้ก็พ่ายแพ้ ทั้งตีได้เมืองอุมงคเสลานคร เมืองนี้อยู่ทิศหรดี ปลายน้ำแม่ กกนที เป็นที่อยู่ของพวกขอมดำ พวกขอมนี้ ตั้งเมืองถิ่นนี้มานาน ยุคเดียวกับเมืองสุวรรณโคมคำ คือเป็นเมืองของพาหิรอำมาตย์ ได้บันทึกไว้ในตำนานสุวรรณโคมคำ

             ครั้นเจ้าสิงหนวัติกุมาร ตีได้เมืองอุมงคเสลานคร สำเร็จแล้ว ก็แต่งกองทัพไปปราบปรามหมู่ขอมทั้งหลายในตำบลต่าง ๆ ทั่ว แว่นแคว้นล้านนาได้ครบทุกตำบล เมื่อศักราชล่วงได้  ๒๐ ปี แว่นแคว้นโยนกนาคพันธุนคร ก็มั่นคง มีอาณาจักรแผ่ขยายไปทุกทิศานุทิศ ทิศบูรพาถึงแม่น้ำแท้แม่ม่วง เป็นแดนต่อจุฬนีนคร เมืองตังเกี๋ย ทิศปัจจิมถึงดอยรูปช้าง ฟากตะวันตกแม่น้ำคง เป็นแดน ทิศอุดรถึงปากทางหนองกระแส หลวงพระยากาจก เป็นแดนต่อแดนเมืองมิถิลารัฐมหานคร หรือเมืองตาลีฟู ของจีนในปัจจุบัน

            ส่วน ทิศใต้ถึงปากน้ำแม่ระมิงค์ หรือแม่น้ำปิง เป็นแดนต่อ กับละวะรัฐมหานคร คือว่าเมืองละโว้ ถ้าเรื่องนี้เกิดก่อนพุทธกาลจริง เมืองละโว้ก็ยังไม่เกิด เพราะพงศาวดารเหนือว่า เมืองละโว้ตั้งเมื่อพุทธกาลล่วง ๑๐๐๒ ปี

            ตามพงศาวดารจีนแจ้งว่า เมืองยุนชาง หรือโยนก แยกจากน่ำจิ๋วในแผ่นดินราชวงศ์ถัง ก่อนจุลศักราช  ๒๐ ปีเท่านั้นเอง  พระเจ้าสิงหนวัติได้ครองราชย์ ในโยนกนาคนคร ได้ ๕๒ ปี ศักราชได้ ๖๘ ปี  แล้วก็มี พระบรมโพธิสัตว์ก็มาอุบัติในโลก

            ในตำนานเดิมนั้น ยังได้กล่าวถึงพุทธพยากรณ์ อยู่หลายเรื่อง ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธประวัติในดินแดนแห่งนี้  ครั้นพรรษาที่ ๑๖ พระพุทธเจ้าเสด็จออกจากกรุงกบิลพัส เสด็จมายังแคว้นโยนกนาคพันธุสิงหนวัตินี้ ประทับสำราญอยู่ ณ ดอยน้อยหนพายัพ ห่างเวียง ๑๐๐๐ วา พระเจ้าสิงหนวัติได้กราบทูลอาราธนาสมเด็จพระบรมศาสดาและพระอรหันต์สาวกทั้งหลาย ให้เข้าไปฉันภัตตาหาร ในพระราชวัง

            ขณะนั้นพระยาช้างต้น ของพระเจ้าสิงหนวัติ ได้เห็นพระพุทธฉัพพรรณรังสีเป็นที่อัศจรรย์ใจ ก็ตื่นตกใจวิ่งออกจาก แหล่งโรงช้าง  แผดเสียงแล่นร้อง "แสน ๆ" ไปทางทิศอุดร แล้วก็ไปหยุดอยู่ ณ ฝั่งแม่น้ำขละนที หรือแม่น้ำโขง ในปัจจุบัน 

            ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์ทรงแย้ม พระโอษฐ์ ตรัสพยากรณ์ว่า ภายหน้าจักมีพระยาตนหนึ่งมาสร้างนคร ณ สถานที่ ๆ ช้างไปหยุดยืน เมืองนั้นจะชื่อว่า เมืองช้างแสน ตามนิมิตอันช้างร้อง แสน ๆ บัดเดี๋ยวนี้เรียก เมืองนี้ว่า เมืองเชียงแสน

            ต่อมาพระพุทธองค์ ก็เสด็จไป โปรดสัตว์ตามพุทธกิจ เสด็จไปประทับในสถานที่ต่าง ๆ หลายตำบล ในที่สุด ได้เสด็จไปจำพรรษาอยู่ ณ ปราสาทอาฬวกยักษ์ ณ เมืองเชียงรุ่ง สิบสองปันนา แล้วก็ทรงพยากรณ์อีกว่า ภายหน้าที่นี้จะได้ มีเมืองหนึ่งตรงนี้ ชื่อว่า อาฬวีเชียงรุ้ง หรือเมืองเชียงรุ้ง ในกาลต่อมา

            ครั้นออกพรรษา แล้ว ก็เสด็จกลับจากเชียงรุ้ง มาประทับยังเมืองโยนกนาคนคร ทั้งได้ ประดิษฐสถาน ประทับรอยพระพุทธบาทไว้ ณ ตำบลผาเรือแห่งหนึ่ง ตำบลสันทรายหลวงแห่งหนึ่ง  แล้วก็เสด็จไปสู่เวฬุวนาราม แขวงเมืองราชคฤห์มหานคร

            ฝ่ายพระเจ้าสิงหนวัติ ก็ได้ครองราชสมบัติ มาตั้งแต่ พระชนมายุได้ ๑๘ ปี ศักราชได้ ๑๗ ปี ดำรงอยู่ในราชสมบัติได้ ๑๐๒ ปี พระชนมายุได้ ๑๒๐ ปี ลุศักราชได้ ๑๑๙ ปี ก็เสด็จสวรรคต

            ตามลำดับนั้น เจ้าคันธกุมาร พระราชโอรส มีพระชนมายุได้ ๔๒ ปี ก็ขึ้นครองราชย์ สมบัติในโยนกนคร สืบมา ครั้งนั้นพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาสู่ประเทศโยนกอีกครั้ง เพื่อจะโปรดพระยาคันธราชเจ้า ซึ่งได้เสวยราชสมบัติใหม่

            ครั้งนี้ พระพุทธองค์ ก็ยังได้เสด็จไปโปรด ปู่เจ้าลาวจก ณ ดอย ตายะทิศด้วย และทรงพยากรณ์ว่า สถานที่ดอยดินแดง คือดอยตุง แห่งนี้ อันจะเป็นสถานที่ประดิษฐ ที่ตั้งมหาสถูป บรรจุพระบรมสารีริกธาตุในภายหน้า

            แล้วเสด็จเลยไปฉันน้ำทิพย์ ณ ถ้ำกุมภคูหา ประดิษฐานพระเกศธาตุ ไว้ ณ ถ้ำเปลวปล่องฟ้า แล้วเสด็จไปประทับไสยาสน์ ณ ผาตูปเมืองกอม แล้วก็เสด็จกลับคือสู่เวฬุวนาราม แห่งกรุงราชคฤห์   ฝ่ายพระยาคันธราช  เมื่อได้รับพระพุทธโอวาท จากพระบรมศาสดาแล้ว ก็ทรงบำเพ็ญราชจริยานุวัติตามธรรม สืบมาได้ ๒๙ พรรษา พระชนมายุ ๗๑ ปี ก็เสด็จสวรรคต

            ต่อมา มีพระโอรสพระนามว่า อชุตราชกุมาร ได้ครองราชย์ สมบัติสืบมา พระองค์มีอัครมเหสีพระนามว่า พระนางปทุมาวดี  มีสิริโฉมงดงามยิ่งนัก ตำนานหนึ่งบอกว่านางเกิดในดอกบัว พระกัมมโลฤาษีเลี้ยงนางไว้  นางจึงได้ชื่อว่า ปทุมาวดี  ส่วนอีกตำนานหนึ่งว่า นางเกิดจากแม่ที่เป็นกวาง ณ เชิงเขาดอยดินแดง คือดอยตุงแห่งนี้ ต่อมา กัมมโลฤาษี ได้นำมาเลี้ยง  ครั้นนางเจริญวัย ได้เป็นมเหสี ของพระเจ้าอชุตราชเจ้านครโยนก

            ต่อมานาง จึงได้หล่อรูปกวางผู้เป็นมารดาไว้ ด้วยทองหนักถึงสี่แสน ประดิษฐานไว้ ณ ที่เกิดของนาง สถานที่นั้นจึงได้ชื่อว่า เมืองกวาง ครั้นนานมากลายเป็นเมืองกวานคู่กับเมืองตุม ในรัชสมัยพระเจ้าอชุตราชนั้น  โบราณศักราชได้ ๑๔๘ ปี

            เมื่อครั้งที่ องค์พุทธะโคตรมะ เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว พระเจ้าอชาตศัตรู ผู้กลับใจ มาใฝ่พระธรรม ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ในแคว้นมคธ แล้ว พระมหากัสสปะเถระเจ้า ก็กระทำปฐมสังคายนา พระธรรมเป็นครั้งแรก  แล้วก็ลบศักราชโบราณ อันพระเจ้าอัญชนสักกะ และกาฬเทวิฬดาดส ได้ตั้งไว้นั้นเสีย และได้ ตั้งพุทธศักราชใหม่ ในปีมะเส็ง เป็นเอกศก

            แต่นั้นมา ล่วงได้ ๓ ปี ถึงปีมะแม วันเพ็ญ เดือน ๕ พระมหากัสสปะเถระเจ้า ได้นำพระบรมอัฐิธาตุพระรากขวัญเบื้องซ้าย  มาถวายแด่พระยาอชุตราชเจ้า แห่งโยนกนคร  พระยาอชุตราชพร้อมด้วยเสนาอำมาตย์ก็มีความยินดี กระทำสักการะบูชา เป็นมโหฬารทั่วทั้งพระนคร

            แล้วเลือกหาสถานที่ อันอุดมสมควร เพื่อจะสร้างมหาสถูปอันจะประดิษฐาน บรรจุพระบรมธาตุนั้น ฝ่าย พระมหากัสสปะเถระเจ้า จึงเล่าเรื่อง ให้พระยาอขุตราช ให้ทราบถึงพุทธพยากรณ์ไว้ ณ ดอยดินแดง หมู่เขาสามเส้า อันเป็นที่อยู่ของปู่เจ้าลาวจก ว่าเป็นสถานที่เหมาะสม

            ฝ่ายพระยาอชุตราช จึงให้หาผู้เป็นหัวหน้าพวกลาวจกมาเฝ้า แล้วพระราชทานทองคำแสนกหาปณะ ให้เป็นค่า ขอซื้อดินแดน ของพวกลาวจก  ให้เป็นสถานที่สร้าง พระสถูปเจดีย์ อันมีอาณาเขต ขยายเขตองค์พระสถูป ออกไป โดยรอบ ด้านละ ๓๐๐๐ วา เมื่อจะสร้างพระสถูปเสร็จ ก็ให้ทำธงตะขามใหญ่ยาวถึงพันวา ปักไว้บนยอดดอยปู่เจ้า ส่วน ทางหางของธง นั้นปลิวยาวไปเพียงใด ก็กำหนดหมายเป็นฐานพระสถูป เพียงนั้น

            ด้วยเหตุนี้ ดอยนั้น จึงมีนามว่า ดอยตุง ครั้นการก่อพระสถูปเสร็จแล้ว จึงอัญเชิญพระบรมธาตุเจ้าเข้าบรรจุในมหาสถูป และมีการฉลองสมโภช เมื่อเสร็จสิ้นแล้ว พระมหากัสสปะเถระเจ้าก็ลา กลับไป

            ฝ่ายปู่เจ้าลาวจก เมื่อได้ทองแสนกหาปณะแล้ว ก็แบ่งปันให้แก่บุตร ๓ คน ให้ลาวหม้อบุตรชายคนใหญ่ ไปอยู่เมืองกวาน ให้ลาวล้านบุตรคนที่สอง ไปอยู่เมืองสีทวง ให้ลาวกลิ่นบุตรคนที่สาม ไปอยู่เมืองเหลือก แล้ว กาลต่อมา บุตรของปู่เจ้าลาวจก ก็ได้สืบตระกูลมา และตระกูลลาวจก ก็ได้เป็นใหญ่ในล้านนา เป็นต้นตระกูลลั๊วะ ลาว ยวน ตรงตามพุทธพยากรณ์ไว้

            ส่วน พระเจ้าอชุตราชครองราชสมบัติ ในเมืองโยนกนาคนครได้ ๑๐๐ พรรษา พระชนมายุได้ ๑๒๐ พรรษา จึงเสด็จสวรรคต มี พระโอรสทรงพระนามว่า พระมังรายณ์กุมาร ที่พระชนม์ได้ ๔๖ ปี ได้ครองราชย์สมบัติสืบต่อกันมา

            ครั้งนั้นก็มี พระอรหันต์องค์หนึ่งชื่อว่า พระมหาวชิรโพธิเถระ พร้อมสงฆ์บริวาร ๕๐๐ รูป พากันเดินทางมา ยังเมืองโยนกนาคนครแห่งนี้ และนำเอาพระบรมสารีริกธาตุพระพุทธเจ้า ๕๐ พระองค์ มาถวายพระยามังรายณ์ราช เจ้านครโยนก ท้าวเธอก็ให้สร้างเจดีย์บรรจุไว้ ณ เกตุบรรพตดอยตุงในบริเวณมหาสถูปนั้น ส่วนพระมหาวชิรโพธิเถระ กับสงฆ์บริวาร ก็พากันกลับไปยังเมืองราชคฤห์ ในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๖ พุทธศาสนาได้ ๑๕๐ ปี

            พระเจ้ามังรายณ์ มีพระโอรสสองพระองค์ องค์ใหญ่พระนามว่า พระองค์เขือง เมื่อพระชนม์ได้ ๕๕ ปี ได้ครองราชย์ แทนพระราชบิดา องค์น้อยมีนามว่า พระองค์ไชยนารายณ์ พระชนม์ได้ ๔๐ ปี เสด็จไปสร้างเมืองที่ตำบลดอนมูล อันเป็นเกาะในแม่น้ำ ปากน้ำแม่กก อยู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองโยนก

            พระองค์ไชยนารายณ์ ได้ครองเมืองนั้น จึงมีนามปรากฏว่า เมืองไชยนารายณ์ ต่อมาภายหลัง เรียกว่า เมืองเชียงราย เมืองนี้ได้ตั้งหลักเมืองในวันอาทิตย์ เดือน ๗ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีกุล พุทธศกได้ ๑๕๑ ปี พระองค์ไชยนารายณ์ได้เสวยราชสมบัติ ต่อมาหลายชั่วอายุคน 

            แต่ตำนานหิรัญนคร เชียงแสน บอกว่า พญาลาวจักราช สร้างเมืองเชียงรายขึ้น เพราะเหตุพบรอยช้างใหญ่ จึงเรียกเมืองเชียงรอย ภายหลังกลายเป็นเชียงราย แต่ในตำนานเชียงใหม่บอกว่า พญามังรายณ์สร้าง จึงชื่อว่าเมืองเชียงราย ตามนาม พญามังราย ถ้าวิเคราะห์ด้วยเหตุผล ก็ล้วนแต่เป็นมงคล ในการสร้างเมือง  เพราะ มนุษย์ในแต่ละยุคก็ เข้าใจต่างกัน เรื่องนี้ อาจมีอยู่ทุกเมือง แต่คน เพราะกาลเวลา เมืองเก่าล่มไป เมืองใหม่ ก็สร้างทับแทนที่เดิมก็เป็นไปได้ จึงมีตำนาน กล่าวถึง เกี่ยวข้องกันหลายแห่ง

            ครั้นพระพุทธศาสนาได้เจริญมาได้ ๑๖๒ ปี พระเจ้าองค์เขื่อง ครองราชย์สมบัติ ในโยนกนครได้ ๓๓ ปี เสด็จไปสถาปนา พระสถูปเจดีย์พระเกศาธาตุที่ถ้ำแก้วเวียงสีทวง ด้านตะวันตกเฉียงเหนือ ในวันศุกร์ เดือน ๖ ขึ้น ๑๔ ค่ำ แล้วให้ขุดเหมืองต่อน้ำแม่สาย ทดน้ำขึ้นเลี้ยงนาแคว้นซ้าย ให้ราษฎรได้ทำนาโดยสะดวก พระองค์เขือง ดำรงอยู่ในราชสมบัติได้ ๓๓ พรรษา พระชนมายุได้ ๘๖ พรรษาจึงได้เสด็จสวรรคต ต่อมา พระองค์ชินราช ผู้บุตรได้ครองราชย์สมบัติสืบไปได้ ๒๐ พรรษา สิ้นชีพวายชนม์ และ พระองค์คำราชบุตรได้ครองเมืองต่อ พระองค์คำสิ้นชีพแล้ว พระองค์เกิง ได้ครองราชสมบัติสืบต่อมา

            พระพุทธศาสนาล่วงได้ ๒๑๘ พรรษา ก็มาถึงยุค พระเจ้าอโศกมหาราช  พระองค์ ได้ครองเมืองปาตลีบุตร พระโมคคัลลีบุตรติสสะ ก็ได้กระทำตติยสังคายนา หลังจากนั้นจึงได้ขอให้พระเจ้าอโศกเป็นองค์อุปถัมภ์นำพระพุทธศาสนา  เพื่อไปเผยแผ่ประดิษฐานในประเทศต่าง ๆ

            ฝ่ายพระมหารักขิตเถระเจ้า กับพระเถระหลายรูป  ก็ได้นำพระพุทธศาสนามาเผยแผ่ยังดินแดนโยนกแห่งนี้ พระมหารักขิตเถระได้นำ พระบรมสารีริกธาตุ ๙ พระองค์ มาถวายแด่พระองค์เกิง ท้าวเธอทรงเลื่อมใส จึงแบ่งพระบรมธาตุ ออกเป็นสามส่วน  ๖ องค์ใหญ่นั้นสร้างพระสถูปประดิษฐานไว้ ณ เกตุบรรพต คือดอยตุง อีกสามองค์นั้นให้อุปราชแสนเมืองนำไปถวายพระยาสม พระราชบิดาผู้ครองเมืองไชยนารายณ์

             พระเจ้าเชียงรายก็ได้สร้างพระสถูปบรรจุพระบรมธาตุไว้ ณ ตำบลภูกวาว เหนือเมืองไชยนารายณ์ เมื่อสร้างพระสถูปเสร็จ  ทั้งสองนคร กระทำการฉลองสมโภชพระบรมธาตุพร้อมกัน ในวันพุธ เพ็ญเดือนยี่ ปีมะเมีย  เมื่อ พระพุทธศาสนาล่วงแล้วได้ ๒๒๙ ปี

            พระองค์เกิงได้ครองราชย์ สมบัติได้ ๖๐ ปี ก็สวรรคต พระองค์ชาติก็ขึ้นครองราชย์ได้อีก ๑๙ ปี ก็สวรรคต พระองค์เว่า ได้ครองราชย์ สมบัติได้ ๑๘ ปี  ในสมัยนั้นพระองค์เว่า ได้สร้างพระสถูปเจดีย์ ที่บรรจุพระเกศาธาตุ ณ ดอยเว่า เมื่อพระพุทธศาสนาได้ ๒๙๐ พรรษา  

            นับว่าดินแดน แห่งนครโยนก เป็นดินแดนที่อุดมไปด้วยกลิ่นหอม แห่งธรรมที่อุดมมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล แม้อาณาจักรเดิมนั้นล้มสลาย กลายเป็นชื่ออื่น แต่ก็ยังเป็นแดนที่ร่มเย็นด้วยธรรม เพราะบุญของผู้นำและบรรพบุรุษได้สร้างไว้คุ้มแผ่นดิน  ในยุคนั้น นั้นได้มีกษัตริย์สืบสันตติวงศ์  ที่ทรงธรรม มาหลายรุ่น จนกระทั่งถึงรัชกาล พระองค์พังคราช สู่มหาศักราชได้ ๒๗๗ ปี

            ครั้งนั้นนครโยนกร่วงโรย ราชอำนาจอ่อนแอ ไปตามกาล แต่แผ่นดิน ยังร่มเย็นแห่งพระธรรม กลิ่นความสุข เพราะพระธรรมยังคุกกรุ่น อยู่ โปรดติดตามตอนที่ ๒ จะได้กล่าวถึง ยุคสมัย ของพระเจ้าพรหมมหาราช ผู้ทรงธรรมอีกพระองค์ และการล่มสลาย ของนครโยนก และแผ่นดินนี้จะกลับมารุ่งเรื่องด้วยพระธรรมอีกครั้ง หลังวันฟ้าดับ อีกไม่นานเกินรอ จงสร้างกรรมดีให้รอดภัยอันใหญ่หลวง เพื่อรอวันพิสูจน์ กันเถิด  อย่าลืม  ติดตามตอนที่ ๒  สวัสดี

---------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น