วันศุกร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2561

เขตเศรษฐกิจ EEC ไทยเชื่อมโลก


            การพัฒนาประเทศเป็นภารกิจหลัก ของทุกรัฐบาลและของทุกประเทศในโลก  ในขณะเดียวกันสังคมโลกก็มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก เรียกว่ารวดเร็วแทบจะนับเป็นวินาทีได้ สิ่งนี้ก็นับว่าเป็นปัจจัยที่ท้าทายความสามารถของผู้กำหนดทิศทาง ในการพัฒนาประเทศของประเทศเหล่านั้น ว่าจะสามารถกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศของตนให้สอดคล้องกับการพัฒนา และการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกแบบก้าวกระโดดนี้ให้เหมาะสมได้อย่างไร  ประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่ต้องการพัฒนา ไปสู่สังคมที่มั่นคง ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความใกล้เคียงกันทางด้านรายได้ มีการเข้าถึงโอกาสที่ดีเท่าเทียมกัน  และภารกิจหนึ่งที่รัฐบาลได้กำหนด เพื่อจะนำพาประเทศไปสู่การพัฒนา ให้ประชาชนของประเทศมีรายได้ที่สูงขึ้น มีการพัฒนาประเทศไปสู่ความเจริญ ให้ทัดเทียมกับประเทศเพื่อนบ้านนั้นก็คือ การสร้างเขต โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) หรือ EEC เพื่อให้เป็นพื้นที่เฉพาะในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการผลิต และเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกับฐานการผลิตทุกภาคส่วนของประเทศ ทั้งยังเป็นกลไกขับเคลื่อนพัฒนาประเทศไปพร้อม ๆ กัน  ในเรื่องนี้ก็ได้มีผู้บริหารระดับสูงของภาครัฐ ได้ออกมาให้รายละเอียดในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจนี้ว่า ดำเนินการไปอย่างไรบ้าง เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจว่า โครงการนี้ยังเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง และอาจจะเป็นแนวทางให้นักธุรกิจที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลนี้  ไปเพื่อประกอบการตัดสินใจในการลงทุนในธุรกิจได้อีกระดับหนึ่ง


            ดร.อุตตม  สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม  ได้กล่าวว่า  เราต้องยอมรับว่าประเทศไทยของเราตอนนี้อยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลง มีการเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นทางด้านสังคมด้านเศรษฐกิจ ซึ่งในระบบเศรษฐกิจนี้นับว่ามีความสำคัญมาก ซึ่งท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงนี้ประเทศไทยเราเองก็กำลังมีการขับเคลื่อนในระบบเศรษฐกิจหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะการกำหนดพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ EEC  ซึ่งในวันนี้ก็มีหลายอย่างที่จำเป็นจะต้องมีการสื่อสารกัน ให้เข้าใจ ทั้งยังต้องสร้างความเข้าใจให้ไปในทิศทางเดียวกัน และก็มีการรับฟังความคิดเห็น ที่แตกต่าง ซึ่งเราจำเป็นจะต้องสื่อสารกันให้เกิดความเข้าใจกันมากขึ้น  สิ่งที่ผู้ทำงานในระดับบริหารประเทศ มีสิ่งที่อยากได้ก็คือข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะ  ซึ่งตอนนี้ผมก็อยากนำเสนอว่า ประเทศไทยเรากำลังมีการขับเคลื่อนไปสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่อย่างเต็มตัว และก็มีหลายคนถาม ว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้นเมื่อทำไปแล้วจะได้อะไร ทำแล้วกระทบกับใคร เมื่อมันกระทบแล้วจะมีการแก้ไขอย่างไร หรือบางท่านก็ถามต่อว่า เมื่อกระทบแล้วจะมีมาตรการในการที่จะเข้าไปดูแล เยียวยามากน้อยแค่ไหน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ในทางปฏิบัติแล้วเมื่อเกิดปัญหาก็ต้องมีการทำความเข้าใจกัน ซึ่งนโยบายด้านหนึ่งของภาครัฐที่กำลังขับเคลื่อนนั้นก็คือ นโยบายการทำเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษของ EEC ซึ่งก็มีหลายหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ก็กำลังพยายามผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมให้ได้ อย่างรวดเร็ว
            ซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจในระบบนี้ นับว่าเป็นเรื่องใหญ่ ที่จะทำให้เกิดผลกระทบกับสังคมโดยรวมทั่วประเทศ โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเอง ก็ต้องการที่จะได้รับฟังปัญหา เพื่อเราจะได้นำไปแก้ไข  ผมอยากเรียนว่า ทั้งภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงอุตสาหกรรมเอง ก็ได้ดำเนินงานผลักดันงานในความรับผิดชอบที่ เกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ นี้อย่างเต็มตัวเช่นกัน

            ประเทศไทยปัจจุบันนี้กำลังเผชิญกับความท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นการท้าทายจากสังคมของโลกภายนอก  และภายในประเทศเราเอง ซึ่งเรื่องนี้เราก็ได้รับผลกระทบในหลายมิติ โดยเฉพาะปัจจุบันนี้โลกมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก และก็รวดเร็วมากจนตามแทบจะไม่ทัน ที่มองชัดเจนมากที่สุดที่หลายคนรู้ก็คือเรื่องของเทคโนโลยี โดยเฉพาะระบบอินเตอร์เน็ตเป็นตัวที่ขับเคลื่อนที่สำคัญ และรวดเร็วมาก เรื่องของ Digital Technology นี้จะแทรกซึมเข้าไปทุกสาขา ทุกอาชีพหรือเรียกจนเรียกได้ว่าแทบจะทุกส่วนของการดำรงชีวิตของคนก็คงไม่ผิด  ซึ่งทุกกรณี  ทุกธุรกิจ ทุกภาคส่วน ล้วนแต่มีส่วนเกี่ยวข้องและเกี่ยวพันกับระบบอินเตอร์เน็ตแทบทั้งสิ้น ทุกสาขาอาชีพคุณจะต้องมีการปรับตัวให้ทันและเข้ากับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วให้ได้
            แนวทางการดำเนินชีวิตของคนก็เช่นเดียวกัน ยุคนี้ไม่ว่าจะคนรุ่นใหม่ รุ่นเก่า ก็ต้องปรับตัว เริ่มค้นหาและเข้าถึงข้อมูลในโลกดิจิตอลมากขึ้น  ซึ่งเป็นการใช้ชีวิต ที่มีลักษณะที่เปลี่ยนไปจากเดิมมาก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องใหญ่มาก ในการที่จะขับเคลื่อน และพัฒนาประเทศไปสู่ทิศทางที่เหมาะสม  ต่อการเปลี่ยนแปลงนี้  ก็นับว่าเป็นความท้าทายของทุกประเทศในโลก ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงไปพร้อม ๆ กันโดยเฉพาะประเทศไทย ก็หนีไม่พ้นที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของโลกในเรื่องนี้ด้วย  ผมขอยกตัวอย่างในเรื่องของอินเตอร์เน็ต เมื่อ
20 ปีก่อน เราใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อในการค้นหาข้อมูลเพื่อการวิจัยจากหน่วยงานทางด้านการศึกษาเท่านั้น การใช้อินเตอร์เน็ตสมัยก่อนอยู่ในวงจำกัดเฉพาะในวงการศึกษาเท่านั้น  ซึ่งเป็นยุคแรก  แต่มาถึงวันนี้ Internet สามารถตอบสนองความต้องการได้หลายรูปแบบมากขึ้น  จนมาถึงปัจจุบันนี้เข้าสู่ยุค Internet of Thing หมายถึงเป็นการใช้อินเตอร์เน็ตในการเชื่อมโยงกันเข้ากับทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเศรษฐกิจ การผลิต การให้บริการ  รูปแบบและอื่น ๆ อีกมากมาย  หลายธุรกิจเริ่มนำระบบ สารสนเทศ และอุปกรณ์เครือข่าย INTERNET มาช่วยในการทำงานมากขึ้น และเราเริ่มมองเห็นมากขึ้นแล้วว่า ธุรกิจหน่วยไหนที่ปรับตัวไม่ทัน เกิดการล่มสลายมากขึ้น  และจะมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างแน่นอน ถ้าปรับตัวไม่ทัน  เราคงจะจำกันได้ว่าสมัยก่อนมีโทรศัพท์ยี่ห้อหนึ่ง ได้รับความนิยมมาก เพราะมีจุดเด่นในเรื่องของความทน ต่อสภาพการใช้งาน และยังมีระบบการใช้งานที่ง่าย เพราะว่าหน่วยธุรกิจนี้มีเป้าหมายว่าจะสร้างโทรศัพท์ยี่ห้อนี้ให้ใช้ได้ทนทาน ประมาณ 10 ปี  และก็ได้รับ การตอบรับจากผู้บริโภค อย่างมากมาย   แต่ต่อมาวิถีของผู้บริโภคเปลี่ยนไป เริ่มนิยมโทรศัพท์ไม่เน้นการใช้นานหลายปี เริ่มเปลี่ยนโทรศัพท์เครื่องใหม่เร็วขึ้น ความทนเป็นรองแต่เน้นรูปแบบที่ทันสมัย และมีฟังชั่นการเล่นมากขึ้น เน้นการใช้งานโทรศัพท์มากกว่าการพูดคุยแบบธรรมดา 

แต่ผู้บริหารบริษัทโทรศัพท์ดังกล่าว ปรับแนวคิด ปรับวิสัยทัศน์ ไม่ทันกับโลกที่กำลังขับเคลื่อน ไปสู่การเปลี่ยนแปลงนั้น   ในที่สุดก็มีโทรศัพท์ยี่ห้ออื่นที่มาสนองตอบความต้องการของผู้บริโภคได้มากกว่า จึงทำให้บริษัทโทรศัพท์ แบรนด์ใหม่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากขึ้น ผลักแบรนด์เก่าที่ปรับตัวไม่ทัน ให้จมหายออกไปเรื่อย ๆ   นี้ก็คือตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับการดำรงอยู่ของยุคนี้ ต่อการเปลี่ยนแปลงของผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยี  ในเรื่องของรถยนต์รถยนต์ก็เช่นเดียวกัน  ในยุคนี้เริ่มที่จะเปลี่ยนแปลงจากเป็นการที่ใช้เพียงในการขับเคลื่อน เพื่อเป็นพาหนะอย่างเดียว  แต่ต่อไปนี้รถยนต์จะกลายเป็นอุปกรณ์ที่สามารถตอบสนองความต้องการได้มากกว่านั้น  มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะนำระบบ Internet Of Things เข้าไปในระบบของรถยนต์ด้วย ต่อไปรถยนต์จะไร้คนขับ ซึ่งเรื่องนี้จะสะท้อนให้เห็นว่า สังคมกำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว  ซึ่ง ทั้งหมดนี้ล้วนแต่จะกระทบต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์แทบทั้งสิ้น  ระบบเศรษฐกิจโลกก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยี  นั้นเอง
            ถ้าเราพูดถึงระบบเศรษฐกิจโลก ในอดีตระบบเศรษฐกิจนั้นประเทศใน แถบยุโรปจะทรงอิทธิพล จะเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจโลก  แต่ปัจจุบันเอเชียก็เป็นที่จับตามองว่าจะเป็นกลุ่มประเทศที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกได้  มีแนวโน้มว่าจะเปลี่ยนมาทดแทนประเทศในแถบยุโรป เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่จะทำให้เอเชียสามารถที่จะปรับตัวเป็นผู้นำทางด้านเศรษฐกิจโลกได้หลายอย่าง  ซึ่งประเทศไทยเราก็จะต้อง เริ่มปรับตัว เตรียมความพร้อม ในขณะเดียวกันภายในประเทศของเราก็ต้องมีการบริหารจัดการกันใหม่เช่นกัน ซึ่งเป็นความท้าทาย เพราะขณะนี้มีหลายปัจจัยที่ เกิดการเชื่อมโยงจากภายนอก ของโลกเข้ามาสู่ภายในประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยที่เราไม่สามารถหลบเลี่ยงได้
            ถ้าในเรื่องของระบบเศรษฐกิจเราจะทำอย่างไร ให้ระบบเศรษฐกิจของเรามีความสมดุลกันมากขึ้น  ซึ่งการสร้างความสมดุลที่กล่าวถึงนี้ หมายถึงว่าเราต้องกลับมามองภายในประเทศว่าจะสร้างงาน สร้างมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดความมั่นคงในระบบเศรษฐกิจภายในประเทศขึ้น ได้อย่างไรโดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจขั้นพื้นฐาน ที่เราจะต้องมองและดำเนินการไปพร้อม ๆ กับการกำหนดทิศทางของเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC   ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะเป็นพื้นฐานในการสร้างความแข็งแกร่งภายในประเทศขึ้นมาให้ได้ เราทำได้มากขึ้น เศรษฐกิจภายในประเทศก็จะเกิดความสมดุลได้   ซึ่งถ้าพื้นฐานด้านในของประเทศมีความแข็งแกร่งแล้ว เราก็สามารถที่จะเติบโตได้และขณะเดียวกันที่สำคัญเราก็ต้องมองช่องว่างของความไม่เท่าเทียมกัน  ซึ่งในประเทศเรามี ช่องว่างความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโอกาสมาก เช่น การเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา  โอกาสทางด้านอาชีพ  ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาที่สะสมภายในประเทศมานาน ซึ่งถ้าหากเราไม่เร่งสะสาง ในอนาคตก็จะเป็นตัวที่ฉุดรั้งความเจริญ เติบโตของประเทศอย่างแน่นอน โดยเฉพาะการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น  ซึ่งจากปัจจัยความท้าทายทั้งภายในและภายนอกในประเทศนี้  ซึ่งเราจำเป็นอย่างยิ่งจะต้องแก้ปัญหา โดยกำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติขึ้นมา ซึ่งเป็นแผนที่กำหนดแนวทางการเดินของประเทศ ว่าเราจะเดินทางไปในทิศทางไหน
            ถ้าพูดถึงระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ผ่านมา มีการเจริญเติบโตแบบแกว่ง  ซึ่งเป็นลักษณะของการเติบโตแบบไม่ยั่งยืน ตามระบบการเปลี่ยนแปลงของโลกเกิดขึ้นอยู่เสมอ  แต่ประเทศไทยก็ต้องการที่จะเจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืนในทุกภาคส่วน  ไม่แกว่งตามโลก ฉะนั้นเราก็จะต้องมามองว่า เราจะเริ่มปรับอะไรบ้าง  เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถเดินหน้าพัฒนาประเทศไม่ได้  เป้าหมายของผมก็คือต้องการให้ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น เราจำเป็นจะต้องมีรูปแบบในการพัฒนาหรือ Model มาเป็นแบบในการพัฒนา เพื่อมุ่งไปสู่ประเทศไทย 4.0  เรื่องเป็นเสมือนยุทธศาสตร์  ถ้ามองอีกด้านหนึ่ง หัวใจของการพัฒนานั้น ประแรกก็คือเรื่องของคน  เราต้องพัฒนาคนก่อน เพื่อให้คนไปขับเคลื่อน ปรับเปลี่ยนปฏิรูปสังคม เศรษฐกิจ  การศึกษา  การสาธารณสุข  ซึ่งภาครัฐก็จะต้องมีการปฏิรูป และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงก่อน เพื่อภาคส่วนอื่นเกิดความมั่นใจแล้วเดินตาม   เหตุผลหลักอีกเรื่องคือโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก เทคโนโลยีก็เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เราต้องก้าวให้ทันและใช้มันอย่างฉลาดด้วย 

นโยบาย ประเทศไทย 4.0  เหมือนแผนที่นำทาง ไปสู่ การพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การสาธารณสุขและอื่น ๆ ด้วย ไม่ใช่ว่าเราจะพูดถึงเฉพาะการอุตสาหกรรมการผลิตเพียงอย่างเดียว   เราได้กำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายไว้ 10 ประเภท  เช่น รถยนต์ไฟฟ้า หุ่นยนต์ การเกษตร และอื่น ๆ อีก บางคนอาจไม่เข้าใจ  เรามุ่งพัฒนาหลายกลุ่มไปพร้อมกัน ตามที่ได้เรียนมาข้างต้นแล้ว  ซึ่งถ้าเรามองโดยทั่วไปแล้วจุดแข็งของประเทศไทยอย่างไร  ก็ทิ้งพื้นฐานทางด้านการเกษตรไปไม่ได้  ซึ่งเราจะมุ่งไปสู่อุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งเราสามารถนำผลิตผลการเกษตร ต้นทางมาแปรรูปสร้างเป็นสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่มได้ โดยใช้หลักการของอุตสาหกรรม  การแปรรูปของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เราสามารถแปลงสินค้าการเกษตรได้หลายประเภท ทั้งชนิดที่บริโภคได้ และประเภทที่ไม่ได้บริโภค  ซึ่งเราเรียกว่า การผลิตแบบชีวภาพ ซึ่งเราจะเพิ่มมูลค่าสินค้าการเกษตร เดิมของเราด้วยวิธีการอุตสาหกรรมการเกษตร  การพัฒนาประเทศนั้น จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องมีเขตเศรษฐกิจพิเศษ  เราก็จะต้องสร้างชุมชนเขตเศรษฐกิจให้มีความเข้มแข็งก่อน  ซึ่งทางภาครัฐคาดว่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนในระบบเศรษฐกิจให้มั่นคงได้อย่างแน่นอน

!!  การสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEC ) ไม่ใช่จะพูดถึงเฉพาะการอุตสาหกรรมการผลิต เพียงอย่างเดียว  เราต้องพัฒนาสังคม พัฒนาการศึกษา  พัฒนาการสาธารณสุข และอื่น ๆ ควบคู่กันด้วย และเรื่องด่วน คือ คน  คน เป็นตัวขับเคลื่อนทุกด้านที่สำคัญ คนต้องได้รับการพัฒนาทักษะ พัฒนาความรู้ เพื่อจะได้นำความรู้ทักษะเหล่านั้นไปพัฒนาประเทศในสาขาที่ตัวเองถนัด จึงจะทำให้ประเทศไปสู่การพัฒนา อย่างยั่งยืนได้  !!

การพัฒนาหรือสร้างเศรษฐกิจพิเศษ  นอกจากจะเป็นการสร้างเขตอุตสาหกรรมที่เราสามารถที่จะจับต้องได้แล้วประการสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ  เป็นเรื่องของการพัฒนาคนด้วย เพราะเรื่องการอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับสูงที่จะดำเนินการต่อไปในเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น จะต้องอาศัยบุคลากรที่มีความรู้ มีความเชี่ยวชาญแต่ละสาขาที่มีทักษะในระดับสูง  ซึ่งบุคลากรของคนไทยก็จะมีโอกาสในการพัฒนาทักษะ ประสบการณ์การทํางานที่มีทักษะระดับสูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง เนื่องจากได้รับความร่วมมือจากบุคลากรต่างประเทศด้วยบุคลากรของไทยที่จะสามารถได้รับความรู้เพิ่มเติม และมีทักษะการทำงานในระดับสูง ซึ่งเรียกว่าเป็นระดับสากลเทียบเท่านานาชาติไปอีกขั้นหนึ่ง  เป็นการพัฒนาบุคลากรเฉพาะด้าน  เฉพาะกลุ่มของภาคการผลิตซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญ สามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบการผลิตและระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้
             นอกจากนั้นในเขตเศรษฐกิจนี้ยังมีการสร้างเครือข่าย ทางการศึกษา กับสถาบันการศึกษาที่จะเปิดสอน  เปิดฝึกอบรม สร้างบุคลากรขึ้นมาเพื่อเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรมนี้และเป็นการทดแทนแรงงานอุตสาหกรรมในอนาคต ซึ่งเป็นการศึกษาระบบเฉพาะด้านที่เป็นนานาชาติ  ขั้นแรกนำร่องด้วยทางกระทรวงอุตสาหกรรมก็ได้ทำความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ ได้ร่วมกันหาแนวทาง ส่งเสริม พัฒนาและเพิ่มพูนทักษะการเรียนรู้ เกี่ยวกับอุตสาหกรรมเฉพาะสาขาในสายอาชีวศึกษาให้มากขึ้น โดยเฉพาะในภาคเขตอุตสาหกรรม   ซึ่งตอนนี้ก็สร้างสถาบันการศึกษาแห่งแรกขึ้นแล้ว เป็นศูนย์ส่งเสริมพัฒนาการศึกษาทางด้านอาชีวศึกษาทางด้านอุตสาหกรรม และทางรัฐบาลญี่ปุ่นก็ให้การสนับสนุนในการศึกษา เพื่อให้ได้บุคลากรของไทย ได้มีความรู้ความสามารถในสาขาวิชาชีพงานอุตสาหกรรม เป็นบุคลากรที่มีความรู้เฉพาะสาขางาน ที่ตรงกับความต้องการ ของแต่ละภาคอุตสาหกรรม อย่างแท้จริง
--------------------------



ทางด้าน  ดร. กอบศักดิ์  ภูตระกูล ผู้ช่วย รมต. ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ได้กล่าวถึงภาระหน้าที่ และการดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายในเรื่อง เขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEC)  ว่า   
            ถ้าพูดถึงมูลค่าของการทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่มีต่อการเจริญเติบโตของประเทศไทยนั้น ผมขอยกสุภาษิตบทหนึ่ง ที่กล่าวไว้ว่า ถ้าอยากให้สถานที่ไหนมีความเจริญรุ่งเรือง ต้องนำถนน นำโครงสร้างพื้นฐานเข้าไปก่อน แล้วความเจริญรุ่งเรืองจะตามไปเอง  ซึ่งในเรื่องนี้ประเทศไทยเราก็มีความตั้งใจเช่นนั้นเหมือนกัน เรามีความตั้งใจที่ที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างขั้นพื้นฐานของประเทศไทย  เราจำเป็นจะต้องมีการปรับ และมีการสร้างโครงสร้างขั้นพื้นฐานเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทางน้ำ ทางอากาศ ทางบก และก็ทางเรือ ทั้งหมดนี้เราจะทำการเชื่อมต่อกัน เพื่อเปิดเป็นพื้นที่ในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างขนาดใหญ่ และให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงความเจริญนั้นได้อย่างทั่วหน้า  
            เป็นความตั้งใจของภาครัฐที่ความต้องการที่จะเปิดพื้นที่ทางด้านเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เพื่อเป็นการนำร่อง ในลักษณะของการเชื่อมโยงทุกภาคธุรกิจภายในประเทศ นอกจากนั้นยังเป็นการเชื่อมโยงให้เข้ากับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน และขยายเชื่อมไปถึงทุกมุมโลกได้ ซึ่งเรื่องนี้เราก็ได้ร่วมทำงานกับประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ ซึ่งทุกประเทศที่เป็นเพื่อนบ้านเราก็มีความตั้งใจที่จะมีการเชื่อมโยงในระบบเข้าด้วยกัน
            สิ่งที่ต้องเกิดมารองรับกัน ก็มีหลายเรื่อง เช่น ระบบมอเตอร์เวย์  เรื่องของโครงการบางปะอิน – โคราช โครงการของพัทยา - มาบตาพุด และเรื่องของการพัฒนารถไฟใต้ดิน ที่เรามีโครงการมานานแล้ว และทางรัฐบาลก็มีความตั้งใจจริงที่จะทำให้สำเร็จโดยเร็วภายใน 2 ปีข้างหน้า  ก็ขอเรียนให้ประชาชนทั่วประเทศโดยทราบ โดยเฉพาะในกรุงเทพจะได้ทราบว่า ตั้งแต่นี้ต่อไปอีกประมาณ 5 ปีข้างหน้าก็ต้องทำใจกันก่อนว่าการเดินทางจะไม่ค่อยได้รับความสะดวกเท่าที่ควร เนื่องจากมีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ หลายจุด ที่จะทำให้การจราจรมีความติดขัดมากยิ่งขึ้นแต่หลังจาก 5 ปีไปแล้ว คงจะมีความสะดวกมากขึ้น  

            โครงงานทั้งหมดนี้มีปัญหาไหมครับ มันก็จะมีปัญหาอย่างแน่นอนปัญหา คืออะไร ปัญหาก็โครงการทั้งหมดนี้ต้องใช้เงินลงทุนอย่างมหาศาล ซึ่งเราคาดว่าเงินประมาณเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ ที่ใช้ในการจัดทำโครงการนั้น มาจากการกู้ยืมของรัฐบาล และส่วนหนึ่งก็ได้จากเงินงบประมาณภายในประเทศ อีก 11 เปอร์เซ็นต์ พูดง่าย ๆ ก็คือ 70 เปอร์เซ็นต์ เป็นเงินที่ ได้มาจากการกู้ยืมและจากภาษีของประชาชนน        ถ้าเราไม่ตัดสินใจทำโครงการนี้ ก็เป็นเรื่องยากที่จะทำการพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรือง ให้ทัดเทียมกับประเทศเพื่อนบ้านได้ในอนาคต  เรื่องเงินนั้นภาครัฐบาลก็มีแนวความคิดใหม่ว่า การที่รัฐจะทำการลงทุนเองทั้งหมด นั้นไม่น่าจะเหมาะสมนัก ควรเปิดโอกาสให้กับภาคเอกชนภายในประเทศหรือต่างประเทศที่มีความสนใจเข้ามาร่วมในการลงทุนด้วย เพื่อให้ภาคเอกชนนำเงินทุนมาช่วยพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐานของประเทศได้อีกด้านหนึ่ง แทนที่ภาครัฐจะรับภาระอยู่ฝ่ายเดียว ซึ่งความคาดหวังของการพัฒนาเขต EEC นั้นเราก็มีความคาดหวังอีกเรื่องก็คือเป็นประตูเข้าสู่ประเทศอาเซียน เป็นศูนย์เชื่อมโยงเปิดประตูเข้าสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านร่วมกัน ซึ่งเราให้ความหมายว่าจะเป็นประตูสู่อาเซียน ซึ่งโครงการ EEC นี้จะสามารถจะดึงนักลงทุนจากทั่วโลกเข้ามาสู่ประเทศไทย และยังเป็นฐาน เป็นทางผ่าน เข้าไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านได้ด้วยประเทศอาเซียนเป็นตลาดใหญ่ ที่กำลังเจริญเติบโตและจะเติบโตมากขึ้นในอีก 15 ปีข้างหน้า
            โครงการของภาคเอกชนที่เข้าร่วมกันลงทุนในเขต
EEC  ก็มีหลายด้าน มีตั้งแต่โครงการสนามบินกการท่าเรือ รถไฟ โครงการเมืองใหม่ โครงการมอเตอร์เวย์ โครงการรถไฟรางคู่ เป็นต้น โครงการเหล่านี้ล้วนเป็นโครงการที่รัฐบาลพยายามจะจัดขึ้นมาให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมในการลงทุน เพื่อแบ่งเบาภาระการใช้งบประมาณของภาครัฐ  ส่วนโครงการที่ให้ภาคเอกชนมาดำเนินการโดยตรงก็มีการท่องเที่ยว และการอุตสาหกรรม  โครงการเหล่านี้ภาครัฐก็ได้ประชาสัมพันธ์ ให้สังคมได้รับทราบ และก็ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนชาวชาวต่างชาติที่ สนใจ  บางรายบอกว่า รอโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยในลักษณะนี้มา 15 ปี  การกำหนดเขตพัฒนาเศรษฐกิจนี้เขามีความสนใจมาก ที่จะเข้ามาลงทุนได้
            ประมาณเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา ก็มีนักธุรกิจจากต่างประเทศเข้ามาดูพื้นที่ในการพัฒนาเศรษฐกิจ
EEC  หลายกลุ่ม เช่น นักลงทุนจากไต้หวัน จากฮ่องกง เขาบอกว่าเขาสนใจ แล้วก็เข้ามาหาข้อมูลว่าจะสามารถเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ ได้ในหน่วยธุรกิจใดบ้าง  และก็ไม่นานมานี้ก็มีนักลงทุนจากญี่ปุ่นเข้ามาดูแนวทางในการลงทุน อีกหลายกลุ่มเช่นเดียวกัน และนักธุรกิจเหล่านั้นบางท่านก็มองว่าการพัฒนาพื้นที่ของเรา ก็เพิ่งเริ่มต้นคงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าที่เขาจะมาลงทุนได้ เมื่อเราทราบปัญหาทางภาครัฐก็ได้นำข้อเสนอนี้ ไปทำการพิจารณาแก้ปัญหา หาแนวทาง โดยสรุปว่าต้องเร่งรัดการจัดทำโครง การกำหนดแผนทำงาน ให้เสร็จสิ้นก่อนที่รัฐบาลชุดนี้จะหมดวาระไป ถ้าทำไม่เสร็จเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ อาจทำให้เกิดปัญหาว่าโครงการนี้อาจจะไม่คืบหน้า นักลงทุนต่างชาติอาจหนีหมด ซึ่งผมในฐานะที่รับผิดชอบในการเขียนแผนพัฒนาโครงการ EEC  ก็จะต้องรีบ ทำงาน และเร่งรัดให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนชาวต่างชาติ และเพื่อให้ทันกับอายุของรัฐบาลในชุดนี้  
            นอกจากนั้นสิ่งที่ ต้องเร่งไปพร้อม ๆ กันก็มีการพัฒนาโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดที่มีอยู่เดิม เพราะที่ผ่านมาอีสเทิร์นซีบอร์ด ก็เป็นโครงการที่สร้างความเจริญให้กับประเทศมานาน และปัจจุบันเริ่มทรุดโทรมไม่มีการพัฒนาเพิ่มเติม เราก็เลยมีโครงการที่จะพัฒนาต่อ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาเศรษฐกิจอีก แห่งหนึ่ง โดยจัดการพื้นที่ที่เรามีอยู่เดิมให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ปรับโครงสร้างขั้นพื้นฐานของพื้นที่ให้มีความทันสมัย และน่าสนใจเหมาะสำหรับในการพัฒนาเป็นแหล่งอุตสาหกรรมที่เจริญก้าวหน้าต่อไป  และทั้งยัง ดำเนินการเชื่อมรถไฟฟ้าความเร็วสูง เชื่อมสนามบิน  และก็เชื่อมท่าเรือเข้าด้วยกัน รวมทั้งเชื่อจนถึงพื้นที่ เขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEC)  และพื้นที่อีสเทิร์นซีบอร์ด เข้าด้วยกัน เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจไปได้พร้อม ๆ กัน  
         ด้วยเหตุผลที่ได้เรียนมาข้างต้นแล้วว่า ถ้าเราพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเหล่านี้ล่าช้าอา จจะประสบปัญหาไม่สำเร็จได้ในอนาคต  สิ่งที่เร่งด่วนในขณะนี้ก็คือ การออกพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) ออกมาบังคับใช้ให้เร็ว ถ้าไม่มีกฎหมายรองรับการทำงานก็เดินไม่ได้ เพื่อให้การพัฒนาเขตเศรษฐกิจนี้เดินหน้าไปอย่างต่อเนื่อง  ต้องมีพระราชบัญญัติ  เพราะเป็นกฎหมายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษโดยเฉพาะ จะมีความคล่องตัวในการพัฒนามากขึ้น ส่วนการออกพระราชบัญญัติฉบับนี้ ถ้าให้ดำเนินไปตามขั้นตอนนั้น อาจจะเกิดความล่าช้า ดังนั้นท่านนายกรัฐมนตรีก็เลยจะใช้อำนาจ มาตรา 44 ออกมาเร่งรัดเพื่อให้พระราชบัญญัติฉบับนี้สำเร็จเร็วขึ้น เท่าที่จะเป็นไปได้  ซึ่งการทำงานในเรื่องนี้สามารถลดระยะเวลาที่ยาวนานได้ถึง 10 เดือน  
            ซึ่งคาดว่า พระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC นี้จะสำเร็จภายในไม่เกินเดือนกันยายนนี้ หลังจากนั้น ก็จะมีการออกระเบียบ แนวทางการปฏิบัติงานต่าง ๆ ตามมา  เพื่อเดินหน้าในการทำโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษต่อไป ส่วนโครงการเดินหน้า หลังจากพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC ประกาศใช้แล้วนั้น  จะประกอบด้วย 7 ขั้นตอน  เช่น  การเสนอโครง  การการคัดเลือก  การกำกับดูแล  การติดตามงาน การแก้ไขสัญญา การรับฟังความคิดเห็นของเอกชน และการรายงานและการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งเรื่องนี้จะต้องมีความโปร่งใสมากขึ้น
            หมายความว่า ระเบียบใหญ่ คือพระราชบัญญัติ ฯ เมื่อออกมาเรียบร้อยแล้วก็จะต้องมีรายละเอียดย่อยที่เป็นขั้นตอนในการดำเนินงาน การปฏิบัติงานในส่วนปลีกย่อยออกไปอีก ส่วนภาคเอกชน หรือผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุน ก็สามารถที่จะติดตามความคืบหน้าได้
            เพราะหลังจากขั้นตอนต่าง ๆ เรียบร้อย จะประกาศเชิญชวน ให้ภาคเอกชน หรือผู้สนใจเข้าร่วมลงทุน รับทราบ แนวทางการคัดเลือก ตลอดจนหลักเกณฑ์ตกลงมาตรฐานของสัญญา ซึ่งหมายความว่าสัญญานั้นจะต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง  เพื่อเป็นขั้นตอนและอำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชนสามารถเข้าไปดำเนินการได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
           
สรุปว่า โครงการนี้จะสามารถเปิดให้ภาคเอกชน หรือผู้สนใจเข้ามาร่วมลงทุนได้ ประมาณกลางปี 2561 อย่างแน่นอน และหลังจากได้ผู้ประมูลเรียบร้อยแล้ว ก็จะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ทันที  ข้อมูลและความคืบหน้า ทั้งหมดตามที่รัฐมนตรีผู้ที่กำกับดูแลได้เปิดเผยในครั้งนี้ น่าจะสร้างความมั่นใจ ให้แก่ประชาชน และผู้ประกอบการที่สนใจ ที่จะเข้ามาลงทุนได้อีกในระดับหนึ่ง ถ้าแนวทางการทำงานในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการสร้างเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนี้ เป็นไปตามแผนจริงที่ได้กำหนดไว้ ประชาชนไทยน่าจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้น และประเทศไทยก็น่าจะเข้าสู่ยุคของความเจริญรุ่งเรือง มั่งคั่งทางเศรษฐกิจอีกครั้ง

----------------------------



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น