ซึ่งในความหมายนี้ การก่อสร้างนั้นจะต้องมีระยะเวลาในการก่อสร้างเกินกว่า 1 ปีซึ่งในความหมายของบัญชีนี้ อาจจะมีการเริ่มก่อสร้างในปี X1 แต่อาจจะไปเสร็จ X2 หรือ ปี X3 ก็ได้ ในความหมายตรงนี้นั้น การก่อสร้างทำไม่เสร็จภายในปีเดียว อาจจะเสร็จภายในอีก 2 ปีหรือ 3 ปีข้างหน้าก็ได้ลักษณะของการก่อสร้างส่วนใหญ่แล้วจะใช้เวลาในการก่อสร้างมากกว่า 1 ปี แล้วเริ่มงวดที่ 1 ก็จะในงวดที่ 2 งวดที่ 3 ก็ได้ ทั้งนี้ก็แล้วแต่ธรรมชาติของงานก่อสร้าง แต่ละประเภท ซึ่งจะไม่เหมือนกัน และในความหมายของการบัญชี จะมีสิ่งที่เราจะต้องทำความเข้าใจ ในความหมายของการที่จะนำรายการต่าง ๆ นั้นมาบันทึกบัญชี รายการนี้เรียกว่า บัญชีในการก่อสร้าง ผู้ที่เกี่ยวของกับจะลงบัญชีในการก่อสร้างนั้นต้องทราบ และต้องเข้าใจก่อนว่า ประเภทของบัญชีงานก่อสร้าง ที่จะสามารถลงบันทึกบัญชีได้ มีกี่ประเภทและมีอะไรบ้าง
ประเภทของบัญชีในการก่อสร้างที่ควรจะพิจารณา
โดยทั่วไปแล้วประเภทของสัญญางานก่อสร้างที่จะต้องลงบันทึกบัญชีได้ ในทางบัญชีงานก่อสร้างได้แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ
ลักษณะที่ 1 ก็คือ สัญญาราคาคงที่ คำว่า สัญญาราคาคงที่ ก็คือสัญญาที่ตกลงกันระหว่างผู้จ้าง กับผู้รับจ้างด้วยราคาที่คงที่ เป็นราคาที่ตกลงกันเท่าไหร่ ก็เป็นไปตามนั้น จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงราคาใด ๆ ยกตัวอย่างเช่น สัญญาสร้างสะพานมูลค่า 200 ล้าน
หรือราคา ก่อสร้างสะพานคิดราคากิโลเมตรละ 1 ล้านบาท ค่าก่อสร้างสะพานยาว 10 กิโลเมตร ค่าก่อสร้างในที่นี้ก็คือ 10 ล้านบาท คือมีการตกลงราคาและผลของงานไว้อย่างชัดเจน และจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงราคาใด ๆ ทั้งสิ้น อย่างนี้เรียกว่า สัญญาราคาคงที่
ประเภทที่สอง เรียกกันว่า สัญญาต้นทุนบวกส่วนเพิ่ม คำว่าสัญญาต้นทุนบวกส่วนเพิ่ม นั้น หมายความว่าเป็นสัญญาที่จะมีการบวกเข้าไปกับต้นทุนที่เกิดขึ้น ยกตัวอย่าง กิจการผู้รับจ้างกำหนดส่วนเพิ่มที่ต้องการส่วนเพิ่ม 10% จากต้นทุนในการก่อสร้าง ถ้าต้นทุนในการก่อสร้างเกิดขึ้นจริง 20 ล้าน ดังนั้นราคาก่อสร้างรวมจะเป็น 22 ล้าน ตรงนี้หมายความว่าต้นทุนคือ 20 ล้านบาท แล้วก็บวกส่วนเพิ่มอีก 10% คือการที่นำ 20 ล้านนั้น มาคูณ 10% ก็คือ 2 ล้าน ก็กลายเป็น 22 ล้านบาทนั้นเอง
การรับรู้บัญชีและการบันทึกบัญชีสำหรับงานก่อสร้าง
ประการต่อมาเราก็มาทำความรู้จัก การรับรู้บัญชีและการบันทึกบัญชีสำหรับงานก่อสร้าง ในการก่อสร้างนั้นการรับรู้รายได้ เราจะรับรู้ตามขั้นความสำเร็จของงาน ซึ่งภาษาบัญชีเรียกว่า การรับรู้รายได้ตามขั้นความสำเร็จ ของงาน หรือเรียกอีกอย่างว่า วิธีอัตราส่วนของงานที่ทำเสร็จ ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นประเด็นสำคัญในการทำความเข้าใจในบัญชีที่ทำสัญญาในงานก่อสร้าง เป็นหัวใจสำคัญที่ผู้ทำบัญชีต้องทำความเข้าใจ เราต้องรับรู้ว่าสัญญาการก่อสร้าง ของเราจะมีการรับรายได้เมื่อไหร่ เพราะว่าการรับรู้คือความหมายของคำว่า อัตราส่วนของงานที่ทำเสร็จงานเสร็จเท่าไหร่ รายได้การก่อสร้างนั้นให้รับรู้ตามขั้นความสำเร็จของงาน
สรุปตรงนี้ว่า ในเรื่องนี้หลักการบัญชีได้กำหนดไว้ว่าให้พิจารณาตามงานผู้มีความน่าเชื่อถือในงานก่อสร้าง หมายความว่ากิจการจะรับรู้รายได้และต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้างและค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุนได้ โดยให้คำนวณจากขั้นความสำเร็จของงานที่ทำการก่อสร้างนั้น ซึ่งต้นทุนและการรับรู้รายได้นั้นก็จะต้องดูจากขั้นความสำเร็จของงาน
การประมาณผลของงานก่อสร้าง
การรับรู้และต้นทุนในการก่อสร้างให้พิจารณาโดยความน่าเชื่อถือในการประมาณผลของงานก่อสร้าง คือกิจการจะรับรู้รายได้และต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้างว่าเป็นค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุนโดยต้องคำนวณจากขั้นความสำเร็จของงานก่อสร้าง ก็ความหมายว่าทั้งต้นทุนและการรับรู้รายได้จะต้องคิดจากงานที่สำเร็จแล้วเท่านั้น ส่วนในกรณีที่ไม่สามารถประมวลผลงานก่อสร้างได้อย่างน่าเชื่อถือ ได้นั้น กิจการจะรับรู้รายได้จากงานก่อสร้างได้ใน จำนวนที่ไม่เกินกว่าต้นทุนที่เกิดจากการก่อสร้างแล้ว นี้คือวิธีการดำเนินงาน ในกรณีที่ไม่สามารถประเมินผลขั้นสำเร็จของงานที่น่าเชื่อถือได้
หมายความว่าบางครั้งเราไม่สามารถประมาณการความสำเร็จของงานได้อย่างน่าเชื่อถือ ที่จะนำมาลงในรายการทำบัญชีได้ ก็สามารถที่จะคำนวณความสำเร็จของงาน เพียงต้นทุน ที่ใช้ไปในการก่อสร้างเท่านั้น
องค์ประกอบของรายได้และต้นทุนในการก่อสร้าง
1. รายได้เริ่มแรกตามที่ได้ตกลงกันไว้ (ระหว่าผู้จ้าง กับผู้รับจ้าง)
2. จำนวนเงินที่เกี่ยวข้อง จากการดัดแปลงงานตามสัญญาค่าดัดแปลงงาน หมายความว่าในทางปฏิบัติแล้วโดยในขณะที่ทำการก่อสร้างอยู่ ผู้จ้างอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงงานบางส่วนเกิดขึ้นตรงนี้ก็จะต้องมีค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นตามไปรายการ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงงานของผู้รับจ้างนี้ก็ถือว่าเป็นรายได้
3. การเรียกร้องค่าเสียหาย บางครั้งในขณะทำการก่อสร้างนั้นอาจจะเกิดความเสียหายเกิดขึ้น จะต้องมีการเรียกร้องเก็บเงินจากผู้จ้าง หรือจากบุคคลที่ทำให้เกิดความเสียหายนั้น ซึ่งผู้รับจ้างได้เงินเข้ามา ในเรื่องนี้ก็ถือว่าเป็นรายได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งจำนวนเงินดังกล่าวนี้ สามารถวัดเป็นมูลค่าหรือมีแหล่งที่มาของรายได้อย่างน่าเชื่อถือ ก็ถือว่าเป็นรายได้ด้วย
4. การจ่ายเงินเพื่อจูงใจ การจ่ายเงินประเทศจูงใจนี้ หมายถึง ในกรณีขณะที่ผู้ทำการก่อสร้างกำลังก่อสร้างนั้น ผู้จ้างมีความต้องการให้ผู้รับจ้าง ทำงานนั้นให้ดี มีความประณีต ให้งานนั้นมีคุณภาพมากขึ้นกว่าเดิมต้องการให้งานนั้นมีมาตรฐาน มีคุณภาพมาก หรือมีรายละเอียดที่พิเศษเพิ่มเข้ามา หรือมีความต้องการให้งานนั้นสำเร็จเร็วกว่า วันเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ ผู้ว่าจ้างอาจจะยินยอมจ่ายเงินเพิ่มให้แก่ผู้ทำการก่อสร้างนั้น ซึ่งเป็นเงินเพิ่มจากค่าจ้างเดิมที่ตกลงกันไว้ เรียกว่าการจ่ายเงินจูงใจ กรณีเช่นนี้ก็ถือว่าเป็นรายได้ของผู้รับจ้างด้วยเช่นกัน นี้คือกลุ่มของรายได้ที่สามารถจะนำไปบันทึกในการบัญชี ได้ในกลุ่มของรายได้ของการก่อสร้างที่สามารถเชื่อได้ว่าน่าเชื่อถือ และนำไปบันทึกในรายการบัญชีงานก่อสร้างได้อย่างถูกต้อง เช่นกัน
ต้นทุนก่อสร้างโดยตรง
1. ค่าแรงงาน ในเรื่องนี้หมายถึงการที่ผู้ว่าจ้างงานจะต้องจ่ายค่าแรงให้กับคนงาน
2. ต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนที่นำไปซื้อวัสดุ อุปกรณ์ในการก่อสร้าง
3. ค่าเสื่อมราคา ค่าเสื่อมราคาที่ใช้ในอุปกรณ์งานก่อสร้าง จะรวมทั้งรูปสินทรัพย์ถาวรต่าง ๆ ที่ใช้ในงานก่อสร้าง ก็ต้องคิดค่าเสื่อมราคาด้วยเช่นกัน
4. ต้นทุนในการเคลื่อนย้ายทรัพย์สิน ซึ่งการเคลื่อนย้ายเครื่องจักร วัสดุ อุปกรณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ยังจะมีต้นทุนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
5. ต้นทุนในการเช่า โรงงาน และอุปกรณ์ ต้นทุนประเภทนี้ รวมถึงต้นทุนเช่าโรงงาน และอุปกรณ์ เครื่องจักร ซึ่งทั้งหมดนี้ที่จะนำมาใช้ในการก่อสร้างก็จะหมายถึงต้นทุนทั้งหมดด้วย
6.ต้นทุนในการออกแบบการเขียนแบบในงานก่อสร้าง
7.ต้นทุนในการแก้ไขงาน ในงานก่อสร้าง ในรายการแบบต่าง ๆ ในขณะทำงาน
8.ค่าเสียหายผู้เรียกร้องจากบุคคลที่สาม ในกรณีนี้ยกตัวอย่างเช่นผู้รับเหมาขณะทำการก่อสร้างอาจจะมีความเสียหายเกิดขึ้นแล้วก็ถูกผู้เสียหายเรียกร้องค่าเสียหายก็ถือว่าเป็นต้นทุนในการก่อสร้างด้วยเช่นกัน
9.รายได้ซึ่งไม่รวมในแบบงานก่อสร้าง อาจจะสามารถไปลดต้นทุนในการทำงานข้างต้นได้ ตัวอย่างเช่นรายได้จากการขายวัสดุอุปกรณ์ที่เหลือจากงานก่อสร้าง ในกรณีนี้ถือว่า มีรายได้จากการขายเศษวัสดุอุปกรณ์ที่เหลือจากการก่อสร้าง ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่รายได้ที่เกิดจากรายได้หลัก รายได้ตรงนี้สามารถที่จะนำไปลดต้นทุนที่เกิดจากการก่อสร้างได้ด้วย
ยกตัวอย่างเช่น ต้นทุนในการก่อสร้างมี 200 ล้านบาท แต่ต่อมามีการขายเศษวัสดุ อุปกรณ์ก่อสร้างที่เหลือจากการก่อสร้างที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งรายได้ในการขายเศษวัสดุนี้ 10 ล้านบาท ดังนั้นในกรณีนี้การจัดทำบัญชีต้องเอารายได้จำนวน ดังกล่าวมาลบออกจาก 200 ล้านบาท ดังนั้น ต้นทุนในการก่อสร้างในครั้งนี้จริง ๆ ก็คือ 190 ล้านบาทเท่านั้น
ต้นทุนก่อสร้างโดยทั่วไป
ต้นทุนในการก่อสร้างโดยทั่วไป ต้นทุนประเภทนี้สามารถปันส่วนให้งานก่อสร้างได้ เช่นต้นทุนโดยทั่วไปนี้ จะหมายความรวมถึง ค่าเบี้ยประกันภัย สำหรับงานก่อสร้าง ค่าโสหุ้ย ต้นทุนกู้ยืม ต้นทุนในการออกแบบ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้าง ซึ่งเป็นต้นทุนในการออกแบบในการให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิค ซึ่งไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการก่อสร้าง ตรงนี้ก็มีหลักในการพิจารณาว่า อาจจะไม่สามารถที่จะทราบว่าต้นทุนที่แท้จริงได้ว่าเท่าไหร่ ดังนั้นจึงใช้วิธีลักษณะบัญชีของงานปั่นส่วนเข้าไปในต้นทุนของงานก่อสร้างนั้นชื่อเรียกง่าย ๆ ว่าต้นทุนปันส่วน โดยภาพรวมก็ได้ ซึ่งการปันส่วนต้นทุนนั้น อาจจะปันส่วนตามรายได้ หรือบางส่วนตามต้นทุนการก่อสร้าง หรืออาจจะปันส่วนตามชั่วโมงแรงงานของการทำงานก็ได้ การคำนวณต้นทุนดังกล่าวนี้ใช้ในกรณีที่เราไม่ทราบว่าต้นทุนดังกล่าวนี้ จะมาจากรายการทำงาน ที่ไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าเป็นการทำงานของส่วนงานไหน เราก็จะใช้วิธีปันส่วนต้นทุน ตรงนี้เข้าไปในรวมในต้นทุนของงานก่อสร้างด้วย
ตัวอย่างการบันทึกต้นทุนปันส่วน
บริษัทก่อสร้างแห่งหนึ่ง มีสำนักงานกลางที่ทำงาน ซึ่งประกอบด้วยพนักงาน ซึ่งทำหน้าที่ในการตรวจสอบคุณภาพของงานก่อสร้าง เป็นงานที่ไม่เกี่ยวกับการก่อสร้างโดยตรง มีการกำหนดว่าหน่วยงานนี้มีค่าใช้จ่ายในการทำงาน 250,000 บาท เงินจำนวน 250,000 บาท นี้ไม่ใช่ต้นทุนที่ใช้ในงานก่อสร้างโดยตรง
แต่ก็เป็นต้นทุนที่เกิด โดยภาพรวมของงานก่อสร้าง ดังนั้นเวลาลงบัญชีก็จะต้องใช้วิธีการปันส่วน เงินจำนวน 250,000 บาท นี้เป็นค่าใช้จ่ายที่ควรปันส่วนไปยังโครงการก่อสร้างงานต่าง ๆ ซึ่งเกณฑ์ในการเพิ่มส่วนนั้น อาจจะปันส่วนตามรายได้ของงานก่อสร้าง ในแต่ละโครงการ หรืออาจจะปันส่วนตามต้นทุนของแต่ละโครงการก็ได้ เช่น ส่วนตามชั่วโมงแรงงานทำงานของแต่ละโครงการก่อสร้างก็ได้ ซึ่งต้นทุนลักษณะนี้ บางครั้งอาจเรียกว่า ต้นทุนรวม ก็ได้
ต้นทุนอื่น
ต้นทุนอื่น หมายถึง ต้นทุนที่สามารถเรียกเก็บจากผู้จ้างก่อสร้างได้ ภายใต้เงื่อนไขของสัญญางานก่อสร้าง เช่น ต้นทุนในการบริหารจัดการทั่วไป ต้นทุนในการพัฒนา รายการนี้เจ้าของกิจการที่รับงานก่อสร้าง สามารถเรียกเก็บจากผู้จ้างตามสัญญาได้ ตามที่ระบุไว้ได้ นี้คือความหมายของ ต้นทุนเงินอื่น
ซึ่งรายการข้างต้นนี้ ก็คือต้นทุนที่เกี่ยวข้องโดยตรง ของต้นทุนในการก่อสร้าง เพียงบางส่วนที่ได้นำมาเสนอในเบื้องต้นเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติจริงการลงรายการ งานบัญชีเรื่องต้นทุนในการก่อสร้างนั้น ยังมีรายละเอียดที่จะต้องนำมาคำนวณ นำมาพิจารณาร่วมกันอีกหลายรายการ ซึ่งจะได้นำเสนอ เพื่อเป็นแนวทางในการทำงานบัญชีงานก่อสร้างอีก ในครั้งต่อไป
----------------------------------------------------------------------------